บทความที่ได้รับความนิยม


Drop Down MenusCSS Drop Down MenuPure CSS Dropdown Menu

บุ๋มแม่ค้ามือใหม่เสื้อผ้าออนไลน์แค่กดไลค์ก็สวยได้ในสไตล์คุณ


ชั่วโมงนี้การติดต่อสื่อสารระหว่างกันไปไกลเกินกว่าที่ใครจะคาดคิด คุณเป็นคนหนึ่งรึเปล่า ที่ติดต่อสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ โดยเฉพาะ “เฟซบุ๊กและไลน์” ถือเป็นการสื่อสารที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากที่สุด
หลายปีมานี้ คนไทยจำนวนไม่น้อย มี “เฟซบุ๊ก” ส่วนตัว เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสาร รวมถึงหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต่างก็ใช้ “เฟซบุ๊ก” ในการประชาสัมพันธ์แจ้งข้อมูลข่าวสารให้กับสาธารณชนได้รับทราบ และลามไปถึงร้านค้าออนไลน์ที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด เพราะโลกของโซเชียลมีเดียหมุนไปไกลอย่างไม่มีวันหยุด

งานค้นคน คนค้นงาน เสาร์นี้ขอแนะนำให้รู้จัก คุณสุพรรณิกา เข็มเพ็ชร หรือ “บุ๋ม” คนรุ่นใหม่ที่ใช้ช่องทางจาก “เฟซบุ๊ก” สร้างรายได้เสริมด้วยการค้าขายเสื้อผ้าให้กับคุณผู้หญิงที่รักความสวยความ งาม
“บุ๋ม” เล่าถึงแนวคิดการเปิดร้านขายเสื้อผ้าออนไลน์ให้ฟังว่า ในช่วงยุคที่ค่าครองชีพสูงขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจ มนุษย์เงินเดือนหลายคนจึงมองหาอาชีพเสริมเพื่อนำรายได้มาเก็บหอมรอมริบไว้ ใช้ในยามจำเป็น ปกติแล้วตัวเองเป็นคนชอบเล่นเฟซบุ๊ก เพราะสมัยนี้เพียงแค่มีสมาร์ทโฟนก็สามารถเล่นได้ทุกที่ ส่งข้อความคุยกับเพื่อน อัพโหลดรูป และก็ชอบเข้าไปดูเพจขายของต่าง ๆ โดยเฉพาะเสื้อผ้ากับกระเป๋า เพราะแค่กดไลค์เป็นแฟนเพจ ก็สามารถเข้าไปดูเสื้อผ้าในสไตล์ที่ตัวเองชอบได้

จนถึงวันหนึ่งมานั่งคิดว่า เราน่าจะลองขายดูบ้างนะ เพราะไม่ได้เสียหายอะไร จึงควักทุนที่เป็นเงินเก็บของตัวเองมาลงทุนสักก้อนเล็ก ๆ  ซื้อเสื้อผ้าในแนวที่คิดว่าวัยรุ่นชอบจากแหล่งชอปปิ้งยอดนิยม เช่น แพลตินั่ม หรือสวนจตุจักร พร้อมกับซื้อหุ่นและไม้แขวนมาเป็นแบบ เพราะเสื้อผ้าจะได้ดูสวยงามมากขึ้น สัดส่วนของหุ่นจะทำให้เสื้อผ้ามีความโค้งตามรูปร่างคนเรา จากนั้นถ่ายรูปเสื้อผ้าด้วยสมาร์ทโฟน จัดการอัพโหลดขึ้นเฟซบุ๊กที่เปิดเป็นแฟนเพจแยกจากเฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อทำเป็นหน้าร้าน และเชิญชวนเพื่อน ๆ เข้ามากดไลค์

ส่วนขั้นตอนการจัดส่งสินค้านั้นเราจัดส่งให้ทางไปรษณีย์ถึงบ้านของลูกค้า แน่นอน ภายหลังการโอนเงินมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รายละเอียดต่าง ๆ สามารถติดต่อสอบถามกันได้ เพราะในเพจจะมีรายละเอียดช่องทางการติดต่อสื่อสาร นอกจากเพจบนหน้าเฟซบุ๊กแล้ว ยังใช้ช่องทางของไลน์และอินสตาแกรมด้วยค่ะ

อย่างไรก็ตามยอมรับว่าการเป็นแม่ค้ามือใหม่ย่อมมีอุปสรรคในเรื่องที่ยัง ไม่มีลูกค้า และร้านยังไม่ติดตลาด ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของร้านค้าที่เปิดใหม่ ๆ ที่จะต้องประสบปัญหาเช่นนี้ ทำให้บางครั้งก็ต้องทำการตลาดโดยการซื้อพื้นที่เพื่อโฆษณา ให้ผู้เล่นเฟซบุ๊กคนอื่น ๆ ได้เห็นด้วย

“การทำอาชีพค้า ขาย ต้องยึดถือความซื่อ สัตย์สุจริตต่อลูกค้า ยิ่งทำโลกออนไลน์ เราต้องทำให้ลูกค้ามีความพึงพอใจและเชื่อถือเรา ถ้าเขาไว้วางใจเราในครั้งแรกแล้ว เชื่อว่าครั้งต่อไปเขาก็จะกลายเป็นลูกค้าประจำของเรา แม้ช่วงนี้จะเพิ่งเริ่มต้นกับการเป็นแม่ค้ามือใหม่ แต่ก็ได้กำลังใจดี ๆ จากพี่น้อง และเพื่อน ๆ เราอย่ากลัวกับการเริ่มต้น ดีกว่าอยู่นิ่ง ๆ ไม่ทำอะไรเลย คนเราต้องรู้จักดิ้นรนขวนขวาย บั้นปลายชีวิตจะได้ไม่ลำบาก”

มาถึงบรรทัดนี้ ท่านผู้อ่านที่สนใจเสื้อผ้าแนววัยรุ่น และวัยทำงาน สวมใส่สบาย ราคาเป็นกันเอง ลองพิมพ์ “Dino Intrend” ในเฟซบุ๊ก แล้วคลิกเข้าไปดูเพจนี้ ร้านค้าออนไลน์เปิดใหม่ พร้อมทั้งไลน์ไอดี“SUPUNNIKA” กับอินสตาแกรมชื่อ “DINOBUM_DN” หรือโทรฯ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  08-1414-8448  มาช่วยให้กำลังใจ
แม่ค้ามือใหม่กันนะครับ.
‘จ๊อบแมน’
job_man28@yahoo.co.th

credit by :  http://www.dailynews.co.th/Content/Article/199992/‘บุ๋ม’+แม่ค้ามือใหม่+เสื้อผ้าออนไลน์แค่+‘กดไลค์’+ก็สวยได้ในสไตล์คุณ

Read More...


กล่องทิซชูโซฟา มีลูกเล่น..จึงเป็นเงิน


ใกล้ถึงสิ้นปี ถือว่าเป็นช่วงนาทีทองของสินค้างานประดิษฐ์ ทั้งประเภทของตกแต่ง-ของใช้-ของขวัญ ซึ่งผู้ผลิตแต่ละรายก็ต้องพยายามหาจุดเด่น-นำเสนอจุดขายของสินค้า เพื่อให้โดนใจ-ตรงใจกลุ่มเป้าหมายมากที่สุด โดยเฉพาะการเน้นไปที่จุดขายในเรื่องของรูปแบบสินค้า อย่างเช่น งานประดิษฐ์จากผ้าของ “สิริกัลยา เหล่าเขตกิจ” ที่ประดิษฐ์ ’กล่องทิซชูโซฟา“ ซึ่งดูแปลกตา จนทำให้สินค้าธรรมดาอย่างกล่องใส่กระดาษชำระ กลายเป็น ’ช่องทางทำกิน” ที่น่าสนใจ...

สิริกัลยา หรือชื่อที่ใช้ในงานประดิษฐ์คือ “แก๊ป บ้านหมอน” ผู้ผลิตกล่องทิซชูทรงโซฟา เล่าว่า เดิมทีทำงานประจำในโรงงานแห่งหนึ่ง โดยยามว่างก็มักจะประดิษฐ์ชิ้นงานจากผ้าเป็นงานอดิเรก เช่น หมอนอิง, กล่องใส่ทิซชู เป็นต้น เพราะเป็นคนชอบทำงานฝีมือ ซึ่งก็ทำมาเรื่อย ๆ ในลักษณะของงานเสริม จนต่อมาพบว่างานฝีมือที่ทำอยู่มีตลาด และสามารถทำเป็นงานหลักพัฒนาเป็นธุรกิจได้ จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำ และหันมาผลิตสินค้าเต็มตัว

ปัจจุบันสิริกัลยาไม่มีหน้าร้าน อาศัยทำงานและสอนที่บ้านของเธอ แต่ก็มีช่องทางที่ใช้พูดคุยสื่อสารกับลูกค้าได้โดยตรง ผ่านทางเฟซบุ๊ก www.facebook.com/sirikanya.kab ซึ่งเธอบอกว่าถ้าจะให้ง่ายขึ้นก็ให้พิมพ์คำว่า “แก๊ป บ้านหมอน” ลงในช่องค้นหา ก็จะพบหน้าเพจเช่นเดียวกัน ซึ่งในนั้นจะมีรายละเอียดสินค้าให้เลือกชม ส่วนเธอกับงานที่เลือกนั้น จากวันแรกถึงวันนี้ก็ผ่านมาเกือบ 10 ปีแล้ว ซึ่งก็เป็นการยืนยัน หรือพอจะกล่าวได้ว่า ตลาดตรงนี้ยังไม่ตัน!

“รายได้ดีกว่างานประจำที่ทำตอนนั้น จึงตัดสินใจลาออกมาผลิตงานเต็มตัว โดยลูกค้าขณะนั้นส่วนใหญ่จะมารับซื้อชิ้นงานจำนวนมาก ๆ เพื่อนำไปขายต่อ ระยะหลังจึงเริ่มมีลูกค้าปลีกที่สั่งทำเป็นครั้ง ๆ และมีคนที่สนใจเข้ามาขอเรียนเพิ่มมากขึ้น โดยมีการคิดแบบสินค้าใหม่ ๆ ออกมาเรื่อย ๆ เพื่อไม่ให้ลูกค้าเบื่อ” สิริกัลยา กล่าว

“กล่องทิซชูโซฟา” นี้ สิริกัลยา เล่าว่า เริ่มจากมีลูกค้าสั่งให้ทำกล่องใส่ทิซชู โดยบอกว่าอยากจะให้ทำเป็นที่นั่งของตุ๊กตาตัวโปรดของลูกค้า คล้าย ๆ กับเฟอร์นิเจอร์ในบ้านตุ๊กตา จึงทดลองทำ และก็ออกมาเป็นชิ้นงานอย่างที่เห็น จากจุดนั้นจึงพัฒนาและปรับปรุงสินค้ามาเรื่อย ๆ โดยเพิ่มเติมในส่วนลูกเล่นเล็ก ๆ น้อย ๆ อาทิ พนักพิง, หมอนอิง ปรากฏว่าลูกค้าชอบ ปัจจุบันชิ้นงานที่ทำมีทั้งลูกค้าขายส่งและขายปลีก รวมถึงคนที่สนใจอยากทำเป็นอาชีพเธอก็เปิดสอน ทั้งที่บ้านและผ่านระบบออนไลน์...

ทุนเบื้องต้นอาชีพนี้ ใช้ประมาณ 20,000 บาท ส่วนทุนวัสดุต่อชิ้นอยู่ที่ประมาณ 30% ของราคาขาย ซึ่งราคาขายอยู่ที่ 250 บาท ถึง 690 บาท

วัสดุอุปกรณ์ หลัก ๆ ประกอบด้วย จักรเย็บผ้า, ผ้าคอตตอน, ผ้าต่วน, ผ้าลูกไม้, ฟองน้ำ, ใยโพลีเอสเตอร์, โบกับริบบิ้น, เข็มกับด้าย และวัสดุสำหรับใช้ตกแต่งชิ้นงาน โดยสามารถหาซื้อได้ตามแหล่งจำหน่ายงานผ้าทั่วไป

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากเลือกลายและชนิดของผ้าที่จะนำมาทำกล่องทิซชู เมื่อเลือกลายและชนิดของผ้าได้แล้ว นำผ้าที่จะใช้ทำส่วนด้านนอกและด้านในของกล่องมาทำการตัดให้ได้ขนาดของกล่อง ทิซชู ทำการตัดฟองน้ำที่จะใช้เป็นซับในของกล่องให้ได้ขนาดเดียวกันกับกล่อง นำมาประกบเข้าด้วยกัน ทำการเย็บประกอบติดเข้าด้วยกันด้วยการเย็บเป็นแนวทแยงตัดกัน จากนั้นนำแพตเทิร์นหรือกระดาษขึ้นแบบสำหรับทำส่วนประกอบของกล่องทิซชูมาทาบ ใช้ดินสอหรือปากกาขีดเส้น ทำการตัดให้ได้ตามแบบที่วาดไว้

กล่องทิซชูโซฟา 1 กล่อง จะมีส่วนประกอบคือ ด้านบน, ด้านข้าง, ด้านล่าง, ส่วนที่ใช้ทำพนักพิงของโซฟา และหมอนอิงเล็ก ๆ ที่ใช้เป็นของตกแต่ง เพิ่มความเหมือนให้กลับกล่องทิซชูโซฟา โดยอาจทำไว้คราวละหลาย ๆ ชิ้น เตรียมไว้เพื่อเพิ่มความสะดวกในการทำชิ้นงาน จากนั้นค่อยนำมาเย็บประกอบขึ้นรูปกล่องในภายหลัง

ในส่วนของฝาหรือด้านบนของกล่อง หรือปากกล่องสำหรับหยิบทิซชูนั้น ให้นำผ้าซับในรองด้านในของกล่องก่อน จากนั้นจึงทำการเย็บยึดติดเข้ากับฝากล่อง หรือที่เรียกว่าเย็บปิดปาก เมื่อเสร็จแล้วให้ใช้กรรไกรทำการตัดเปิดปากออก

ต่อมาก็เป็นการเย็บประกอบกล่องแต่ละด้านเข้าด้วยกัน จากนั้นจึงทำการตกแต่งตามแบบ
“ขั้นตอนแทบไม่มีความแตกต่างจากงานกล่องทิซชูปกติ ที่เพิ่มเข้ามาคือในส่วนของพนักพิงที่เพิ่มความสวยงามและจุดเด่นให้กับกล่อง หากใครที่ทำงานตุ๊กตาถักอยู่แล้วก็อาจจะเพิ่มมูลค่าได้โดยการนำตุ๊กตาตัว เล็ก ๆ น่ารัก ๆ เข้ามาประกอบ ก็จะยิ่งทำให้ชิ้นงานโดดเด่นน่าสนใจ และขายชิ้นงานได้มากขึ้น” เป็นคำแนะนำจากสิริกัลยา

ใครสนใจติดต่อกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ จาก ’กล่องทิซชูโซฟา“ ติดต่อได้ที่ เลขที่ 16/53 หมู่ 12 หมู่บ้านพฤกษา 52/1 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โทร.08-1172-6129 หรือตามเฟซบุ๊กข้างต้น นี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งชิ้นงานที่นำรูปแบบเก่ามาดัดแปลงจนเพิ่มมูลค่าให้ชิ้น งานได้อย่างน่าสนใจ และเหมาะที่จะใช้ทำเงินช่วงนาทีทองอย่างหน้าเทศกาลปีใหม่ที่ใกล้จะมาถึง.
ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ :เรื่อง / สุนิสา ธนพันธสกุล :ภาพ

credit by :  http://www.dailynews.co.th/Content/Article/193374/‘กล่องทิซชูโซฟา’+มีลูกเล่น..จึงเป็นเงิน

Read More...


‘ทำนา (ดอก) บัว’ ดูแลง่าย ขายได้ทุกวัน

พื้นที่ทำ “นาบัว” นั้น มีลักษณะคล้ายกับนาข้าว สามารถปรับนาข้าวมาทำเป็นนาบัวได้ ซึ่งการทำนาบัวจะดูแลง่าย ปลูกเลี้ยงง่าย




พื้นที่ทำ “นาบัว” นั้น มีลักษณะคล้ายกับนาข้าว สามารถปรับนาข้าวมาทำเป็นนาบัวได้ ซึ่งการทำนาบัวจะดูแลง่าย ปลูกเลี้ยงง่าย ใช้เวลาดูแลไม่นานก็สามารถเก็บผลผลิตขายทำเงินได้ โดยเกษตรกรที่ทำนาบัว ตัดดอกบัวขาย สามารถทำเงินสร้างรายได้ได้ทุกวัน อาชีพ “ทำนาบัว” ตัดดอกขาย จึงเป็นอีก ’ช่องทางทำกิน“ ที่น่าสนใจ...

ทีมงาน “ช่องทางทำกิน” มีโอกาสไปเยี่ยมชม “นาบัวลุงแจ่ม” อยู่ในพื้นที่หมู่บ้านศาลาดิน ต.มหาสวัสดิ์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม และได้เก็บความรู้เกี่ยวกับการทำนาบัวตัดดอกขายมาฝาก โดยนาบัวลุงแจ่มนั้นปลูกบัวตัดดอกขาย อยู่บนพื้นที่กว่า 15 ไร่ ทำการปลูกมานาน 20-30 ปี โดยปลูก “บัวสัตตบุษย์” ที่เป็นดอกสีขาว และ “บัวสัตตบงกช” ที่มีกลีบดอกเป็นสีชมพูอมม่วง ซึ่งปัจจุบันเป็นทายาทที่เข้ามาดูแลต่อ โดยทายาทของลุงแจ่ม เล่าให้ฟังว่า เดิมพื้นที่ที่ปลูกบัวนี้เป็นที่ทำนาปลูกข้าวมาก่อน แต่ด้วยปัญหาเรื่องราคาข้าว ทางครอบครัวจึงตัดสินใจหันมาทำนาบัวแทน

ครอบครัวนี้ใช้พื้นที่ที่เคยทำนาข้าวจำนวน 15 ไร่ ปรับเปลี่ยนทำเป็นนาปลูกบัวตัดดอกขาย เพราะเห็นว่าการทำนาบัวนั้นคล้ายกับการทำนาข้าวแต่จะดูแลไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาปลูกไม่นานก็เห็นผลผลิต และยังสามารถเก็บขายทำเงินสร้างรายได้ได้ทุกวัน ราคาก็ไม่ผันผวนมาก มีตลาดรองรับทุกวัน

“บัวที่นำมาปลูกเริ่มแรกเป็นบัวสัตตบุษย์ ดอกสีขาว พอทำมาได้ระยะหนึ่ง เริ่มมีเกษตรกรหันมาปลูกกันมากขึ้น ทำให้ราคาเริ่มนิ่งและขยับลง ทำให้เราต้องขยับมองหาบัวพันธุ์อื่นมาปลูกเพิ่มควบคู่กันไป จนได้มาปลูกบัวสัตตบงกช ที่มีสีดอกเป็นสีชมพูอมม่วง ซึ่งก็ทำการปลูกมาจนถึงปัจจุบัน” ทางผู้ปลูกบัวเล่า
พร้อมทั้งบอกต่อไปว่า การทำนาบัวนั้นคล้ายกับการทำนาข้าว แต่คันนาบัวจะต้องทำสูงกว่านาข้าว โดยการทำนาบัวนั้นต้องเริ่มจากการปรับพื้นที่ปลูกก่อน เริ่มจากการใช้รถไถทำคันนาให้ได้ความสูงประมาณ 1 เมตร จากนั้นก็ใช้รถไถทำการย้ำหน้าดิน ใช้รถไถพลิกหน้าดิน 1 ครั้ง นำปูนขาวมาโรยให้ทั่วแปลง ตากทิ้งไว้ประมาณ 7-15 วัน จากนั้นไถหน้าดินอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับใส่ปุ๋ยคอกลงไป

หลังจากที่ทำการเตรียมพื้นที่ปลูกเรียบร้อยแล้วก็ทำการปล่อยนํ้าเข้านา ปลูก ให้นํ้าขังอยู่ในพื้นที่ปลูกประมาณ 30 เซนติเมตร ทิ้งไว้ให้ดินนิ่ม จากนั้นก็นำ “ไหลบัว” มาทำการปักดำ การปักดำไหลบัวนั้น 1 หลุมอาจจะปักดำได้มากกว่า 1 ไหลขึ้นไป หลุมหนึ่งอาจจะมี 5 ไหลบัวก็ได้ แต่ต้องให้มีระยะห่างแต่ละหลุมประมาณ 2x2 เมตร ซึ่ง 1 ไร่ ก็จะใช้ไหลบัวประมาณ 250 ไหล ในการปลูกครั้งแรกก็ไปหาซื้อไหลบัวจากผู้ที่ปลูกบัวอยู่ก่อนแล้ว ราคาก็อยู่ที่ประมาณ 5 บาทต่อไหล

จากนั้นก็รออีกประมาณ 1 เดือน ไหลบัวก็จะเริ่มโตแตกหน่อ ให้ใส่ปุ๋ยยูเรียสูตร 46-0-0 ให้ทั่วแปลงปลูก เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของบัว ในช่วงนี้ต้องคอยระมัดระวังดูแลไม่ให้โรคและแมลงมาทำลายนาบัว หากโรคหรือแมลงมารบกวนให้รีบฉีดพ่นยารักษา จากนั้นอีกประมาณ เดือน ก็ให้ปล่อยนํ้าเข้านาบัวเพิ่มเป็นระดับประมาณ 50 เซ็นติเมตร

เมื่อนาบัวที่ปลูกไว้ได้ระยะ 2 เดือน บัวก็จะเริ่มให้ผลผลิตออกดอกให้เห็น แต่ในช่วง 2 เดือนดอกบัวจะยังเล็กอยู่ พอระยะปลูก 3 เดือนบัวจะให้ดอกมากขึ้นและเริ่มเก็บดอกเพื่อจำหน่ายได้ ซึ่งดอกบัวนั้นจะให้ดอกมากในช่วงหน้าร้อน ถ้าเป็นหน้าหนาวจะให้ดอกน้อยหน่อย ส่วนหน้าฝนจะให้ดอกเยอะก็จริงแต่ดอกบัวจะส่วนใหญ่ดอกจะฝ่อ ดอกที่ใช้ได้นั้นน้อย ทั้งนี้ การเก็บดอกบัวนั้นจะทำการเก็บทุกวัน หรือจะเก็บวันเว้นวันก็ได้ แล้วแต่ผลผลิตที่ออก

การบำรุงนาบัว ก็ให้ใส่ปุ๋ยประมาณเดือนละ 1 ครั้ง
การเก็บดอกบัว ก็จะใช้เวลาเก็บตั้งแต่ 06.00 น. ไปจนถึง 11.00 น. ดอกบัวที่เก็บจะต้องยังเป็นดอกที่ตูม การตัดเก็บดอกบัวต้องให้มีความยาวก้านดอกอยู่ที่ประมาณ 40-50 เซนติเมตร หลังจากเก็บมารวมกันแล้วก็จะทำการคัดแยกขนาดดอกบัว แบ่งเป็น 3 ขนาด คือใหญ่-กลาง-เล็ก โดยนำมามัดให้เป็นกำ ๆ ละ 10 ดอก ห่อด้วยใบบัว ตัดแต่งก้านให้เรียบร้อย ก่อนส่งขาย โดยราคาขายอยู่ที่ดอกละ 0.3-1 บาท ตามขนาดดอก และการขยับขึ้นลงตามราคาของตลาดรับซื้อ

“นาบัวที่ปลูกสามารถให้ผลผลิตได้ถึง 6 เดือน หลังจากนั้นบัวจะแก่ เริ่มให้ผลผลิตลดน้อยลง เราก็ต้องทำการโละนาเก่า หรือที่เรียกว่าทำการทุบบัว โดยไม่ต้องลงทุนซื้อพันธุ์หรือขุดลอกเตรียมพื้นที่ใหม่ แต่จะใช้วิธีการปล่อยนํ้าออกจากแปลงปลูกแล้วนำรถไถเข้าไปย่ำบัวชุดเดิม เพื่อกระตุ้นให้ไหลบัวเดิมแตกใบและดอกชุดใหม่ขึ้นมา โดยกำหนดความกว้างของแต่ละแถวที่จะทุบ ประมาณขนาดเท่าพอดีรถไถที่ลงไปเหยียบ และเว้นไปประมาณ 50 เซนติเมตร ถึงจะเริ่มทุบแถวใหม่อีกครั้งหนึ่ง หลังจากทุบไปแล้วประมาณ 1-2 เดือน ไหลบัวจะเริ่มแตกใบใหม่ออกมา ในระหว่างนี้ก็จะเสริมปุ๋ยเพื่อช่วยบำรุงและกระตุ้นใบและรากให้แข็งแรงขึ้น พอ 3 เดือนบัวก็จะเริ่มออกดอกให้ได้เก็บอีกครั้ง” คนทำนาบัวบอก
ทั้งนี้ การให้ผลผลิตดอกบัวโดยเฉลี่ยแล้วก็อยู่ที่ประมาณ 200-400 ดอก/ไร่/วัน

“นาบัวลุงแจ่ม” กรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ จากการ ’ทำนาบัว“ ในวันนี้ ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านศาลาดิน ต.มหาสวัสดิ์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ใครสนใจผลผลิตติดต่อสอบถามได้ที่ ประไพร สวัสดิ์โต เบอร์โทรศัพท์ 08-7828-1892.
บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน
สุรเชษฎ์ วัชรวิศิษฎ์ : ภาพ

credit :  http://www.dailynews.co.th/Content/Article/195015/‘ทำนา+(ดอก)+บัว’+ดูแลง่าย+ขายได้ทุกวัน

Read More...


‘ปั้นไม้มงคล’‘กล้วยร้อยหวี’เงินงาม

งานปั้นไม้มงคลที่ทำไปขายมี 4 ชนิด ได้แก่ กล้วยร้อยหวี, บัว, ขนุน, ส้ม โดยต่อยอดจากสิ่งที่ไปเรียนมาจากที่ฝึกวิชาชีพของราชการที่มีการสอนการปั้นแบบพื้นฐานเท่านั้น


ใกล้เทศกาลปีใหม่เข้ามาทุกที ของขวัญ ของที่ระลึกต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อเรื่องมงคล ก็มักจะได้รับความนิยมมาก อย่างงาน “ปั้นไม้มงคล” ที่ทีม “ช่องทางทำกิน” จะนำเสนอในวันนี้ นี่ก็เป็นตัวอย่างที่นำมาให้พิจารณากัน...

มุกดา กลั่นเกษม อายุ 51 ปี เจ้าของงาน “ปั้นไม้มงคล” ในย่านถนนสุขาภิบาล 3 กรุงเทพฯ เล่าว่า เป็นแม่บ้าน แต่มีความชอบในการเรียนฝึกอาชีพด้านงานศิลปะทุกชนิด เช่นที่ทางราชการ (กทม.) เปิดฝึกอาชีพให้กับประชาชน ซึ่งเมื่อก่อนที่ไปเรียนก็ไม่ได้นำมาต่อยอดเป็นอาชีพ เพราะไม่มั่นใจ และไม่มีเวลา แต่เมื่อปีที่แล้วมีตลาดน้ำมาเปิดใกล้ ๆ บ้าน จึงคิดเอางานศิลปะ “ปั้นไม้มงคล” ไปลองเปิดร้านขายดู ซึ่งก็ประสบความสำเร็จมากทีเดียว

งานปั้นไม้มงคลที่ทำไปขายมี 4 ชนิด ได้แก่ กล้วยร้อยหวี, บัว, ขนุน, ส้ม โดยต่อยอดจากสิ่งที่ไปเรียนมาจากที่ฝึกวิชาชีพของราชการที่มีการสอนการปั้น แบบพื้นฐานเท่านั้น ซึ่งสามีบอกว่าหากจะขายจริง ๆ จะต้องคิด และทำงานประดิษฐ์ที่ไม่เหมือนใคร จึงจะขายได้ จึงเป็นที่มาของงานปั้นไม้มงคลทั้ง 4 ชนิดข้างต้น

สำหรับวัสดุและอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานปั้น หลัก ๆ ก็มี ดินไทยสีขาว สีเขียว และสีเหลือง, สีน้ำมัน, ปากกาเมจิกสีดำ, ลวดเส้นเล็ก, ก้านลวดเล็ก, ก้านลวดใหญ่, ด้ายเย็บผ้าสีขาว, พิมพ์ตัดใบกล้วย, พิมพ์อัดลายใบกล้วยที่ทำจากเรซิ่น, พิมพ์กาบกล้วย และเครื่องรีดดิน

วิธีทำเป็น “กล้วยร้อยหวี” นำดินไทยสีเขียว สีเหลือง และสีเขียวปนเหลืองที่ปั้นผสมไว้ มาปั้นเป็นกล้วยลูกเล็ก ๆ ขนาดยาว 1 ซม. กว้าง 0.5 ซม. แล้วเอาลวดเล็กขนาดยาว 1.25 ซม. ทากาวเสียบเข้ากลางลูกกล้วย เตรียมไว้

มุกดา บอกว่า กล้วยที่ปั้นนั้น จะปั้นไว้ครั้งละประมาณ 1,400 ลูก คละสีให้ได้ 3 สีอย่างละเท่า ๆ กัน โดยกล้วยดิบใช้ดินสีเขียว กล้วยห่ามใช้ดินสีเขียวผสมเหลือง และกล้วยสุกใช้ดินสีเหลือง จากนั้นนำกล้วยที่ปั้นไว้มา เข้าหวี โดยกล้วย 1 หวี มี 14 ลูก จัดกล้วยแต่ละลูกให้เป็นหวีให้สวยงาม มัดรวมกันด้วยด้ายเย็บผ้า (มัดเสร็จแล้วให้เหลือปลายด้ายไว้ยาวเล็กน้อย) เสร็จแล้วใช้ดินสีเขียวพอกบริเวณด้านบนของกล้วยเพื่อให้กล้วยกลายเป็นหวี ใช้ปากกาเมจิกสีดำแต้มบริเวณปลายกล้วย ให้เป็นจุกกล้วย ต่อจากนั้นนำกล้วยที่เข้าหวีแล้วมา เข้าเครือ โดยนำกล้วยแต่ละหวีมามัดกับก้านลวดเล็กที่เป็นแกน โดยมัดหวีกล้วยเป็นวงกลมรอบก้านลวด (เริ่มมัดจากก้านลวดด้านบนสุด แล้วไล่ลงมาด้านล่าง) โดย 1 รอบจะใช้กล้วย 3 หวี เมื่อมัดแต่ละรอบเสร็จแล้ว ใช้ดินสีเขียวพอกบริเวณหวีกล้วยกับก้านลวดให้ติดแน่น และดูสวยงาม

ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนครบ 100 หวี ไล่จากกล้วยดิบ กล้วยห่าม และกล้วยสุก เตรียมไว้
ขั้นตอนต่อไปคือ การ เข้าต้นกล้วย ก่อนอื่นต้องเตรียมใบกล้วย 14 ใบ และกาบกล้วย 14 ชิ้น
วิธีทำใบกล้วย คือรีดดินให้บาง (ด้วยความหนาขนาดเบอร์ 3 หรือ 4 ของเครื่องรีดดิน) เตรียมไว้ เสร็จแล้วใช้พิมพ์ตัดใบกล้วยขนาดสูง 12 นิ้ว ตัดดินที่รีดให้บางแล้วเป็นรูปใบกล้วยออกมา แล้วนำไปอัดลายใบกล้วยในพิมพ์ที่ทำมาจากเรซิ่น เสร็จแล้วใช้ลวดก้านเล็กดามตรงบริเวณกลางใบกล้วยให้แข็งแรง ทำแบบนี้ 14 ใบ ผึ่งไว้ให้แห้ง

วิธีทำกาบกล้วย คือรีดดินให้บาง (ความหนาขนาดเบอร์ 3 หรือ 4 ของเครื่องรีดดิน) เตรียมไว้ เสร็จแล้วใช้พิมพ์ตัดกาบกล้วยขนาดสูง 12 นิ้ว, 11 นิ้ว และ 10 นิ้ว ตามลำดับ ตัดกาบกล้วยตามขนาด ในจำนวนที่เท่า ๆ กันในแต่ละขนาด ผึ่งไว้ให้แห้ง เตรียมไว้

วิธีการเข้าต้นกล้วย มัดก้านลวด 3 ก้าน และก้านเครือกล้วย เข้าด้วยกันด้วยด้ายเย็บผ้า โดยให้ก้านเครือกล้วยอยู่ตรงกลาง เสร็จแล้วเอาใบกล้วย 3 ใบ ติดรอบต้นกล้วย มัดไว้ด้วยด้าย แล้วเอากาบกล้วย 3 ใบ ติดประกบอีกที โดยการติดใบกล้วย และกาบกล้วย ติดไล่จากด้านบนลงมาด้านล่าง ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนครบ โดยเว้นระยะห่างกันลงมา 1.5-1 นิ้ว เสร็จแล้วหงายต้นกล้วยขึ้นมา แล้วนำ ดินสีเขียวยัดใส่เข้าไปในลำต้นกล้วยที่กลวง ๆ ให้แน่น

จากนั้นก็จัดต้นกล้วย เข้ากระถาง ให้เรียบร้อย เป็นอันเสร็จ
กล้วยร้อยหวีที่เข้ากระถางและจัดแต่งให้สวยงามแล้ว มุกดา บอกว่า ขายได้ในราคาตั้งแต่ 150-9,000 บาท ตามปริมาณของลูกกล้วย ซึ่งต้นทุนนั้นอยู่ที่ประมาณ 60-70% ของราคาขาย
ใครสนใจงาน “ปั้นไม้มงคล” ของ มุกดา กลั่นเกษม ต้องการติดต่อเจ้าของกรณีศึกษา “ช่องทางทำกิน” รายนี้ ติดต่อทางโทรศัพท์ได้ที่ โทร.08-7710-4366 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างงานประดิษฐ์กลุ่มของตกแต่ง ที่แฝงไว้ด้วยความเชื่อในเรื่องความเป็นมงคล และเป็นอีกรูปแบบของขวัญที่ได้รับความนิยม รวมถึงในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ใกล้จะมาถึง.

สุภารัตน์ ยอดศิริวิชัยกุล :เรื่อง / สันติ มฤธนนท์ : ภาพ
...............................
คู่มือลงทุน…ปั้นไม้มงคล
ทุนอุปกรณ์ ประมาณ 5,000 บาทขึ้นไป
ทุนวัตถุดิบ ประมาณ 60-70% ของราคา
รายได้ ราคาชุดละ 150-9,000 บาท
แรงงาน ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป
ตลาด ตลาดนัด-ตลาดน้ำ, ออกร้าน
จุดน่าสนใจ มีเรื่องมงคลเป็นจุดขายที่ดี

credit by : http://www.dailynews.co.th/Content/Article/198498/‘‘ปั้นไม้มงคล’‘กล้วยร้อยหวี’เงินงาม

Read More...


งานประดิษฐ์จากไม้ทำเงินได้จาก ‘งานทำมือ’

“งานไม้ทำมือ” ประเภทของขวัญ ของที่ระลึก ของตกแต่ง ซึ่งสามารถจำหน่ายชิ้นงานออกไปได้เร็วกว่า เพราะสินค้าใช้ต้นทุนไม่สูง ราคาจำหน่ายไม่แพงมาก



งานไม้ “งานประดิษฐ์จากไม้” ยังเป็นชิ้นงานที่มีออกมาสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ด้วยจุดเด่นคือเป็นวัสดุที่มีเสน่ห์เฉพาะตัว วัสดุประเภทไม้สังเคราะห์หรือ “ไม้เอ็มดีเอฟ” ก็ได้รับความนิยมทั้งโดยผู้ผลิตและผู้ซื้อชนิดแรงดีไม่มีตก ไม่มีตัน อย่างเช่นชิ้นงาน ’งานไม้ทำมือ“ ของ “วิเชียร แทนเครือ-อุมาพร แผ่นคำ” ที่ ’ช่องทางทำกิน“ มีข้อมูลมานำเสนอ...

วิเชียร หนึ่งในหุ้นส่วน เล่าว่า เดิมทีทำงานประจำเป็นนักออกแบบด้านจิวเวลรี่ ต่อมาได้ลาออกและหันมาผลิตงานไม้ประเภทงานเฟอร์นิเจอร์เพื่อจำหน่ายควบคู่ไป กับงานทำเสื้อยืด และต่อมามองว่าตลาดเฟอร์นิเจอร์ต้องใช้ทุนสูง อีกทั้งการแข่งขันระหว่างรายเล็กกับรายใหญ่ก็มีช่องว่างแตกต่างกันมากเกินไป จึงหันมาผลิต “งานไม้ทำมือ” ประเภทของขวัญ ของที่ระลึก ของตกแต่ง ซึ่งสามารถจำหน่ายชิ้นงานออกไปได้เร็วกว่า เพราะสินค้าใช้ต้นทุนไม่สูง ราคาจำหน่ายไม่แพงมาก อีกทั้งชิ้นงานแต่ละชิ้นนั้นลูกค้าสามารถซื้อและหิ้วติดตัวกลับบ้านได้เลย ไม่ต้องรอระบบการขนส่งเหมือนเฟอร์นิเจอร์ไม้ชิ้นใหญ่ ๆ จึงหันมาลุยธุรกิจนี้อย่างเต็มตัว โดยอาศัยการจำหน่ายชิ้นงานผ่านสื่อออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก ทาง www.facebook.com/ispoopaashop โดยจำหน่ายผ่านช่องทางนี้มาได้ประมาณ 1 ปีแล้ว

ผลตอบรับที่ได้ถือว่าไปได้ดี โดยปัจจุบันมีทั้งที่ซื้อเพื่อนำไปจำหน่ายต่อตามแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงที่สั่งทำชิ้นงานเฉพาะเพื่อนำไปทำเป็นของขวัญ ของชำร่วย เป็นต้น

ด้าน อุมาพร หุ้นส่วนอีกคน บอกว่า สำหรับจุดเด่นของชิ้นงานที่ทำขึ้น จะเน้นที่ความน่ารักของรูปทรง (shape) ของชิ้นงาน นอกจากนี้สีสันและลูกเล่นที่เกิดจากการขัดสีที่ไม้ก็เป็นอีกจุดเด่นที่ ลูกค้าชื่นชอบ ทั้งนี้รูปแบบชิ้นงานจะมีการสำรวจตลาด ดูเทรนด์และความต้องการของตลาดว่าเป็นไปในทิศทางไหน ก่อนจะนำข้อมูลที่ได้มาปรับประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสไตล์หรือเอกลักษณ์ของทาง ร้านอีกทีหนึ่ง ซึ่งข้อดีของงานไม้ทำมือนี้ อยู่ที่ผู้ผลิตสามารถพลิกแพลง ปรับเปลี่ยนรูปแบบของชิ้นงานได้ตลอดเวลา รวมถึงจะนำชิ้นงานหนึ่งมาประยุกต์เข้ากับอีกชิ้นงานหนึ่งก็สามารถทำได้

ปัจจุบันชิ้นงานที่ผลิตขึ้น มีอาทิ พวงกุญแจ, ที่แขวนพวงกุญแจ, ที่แขวนเครื่องประดับ, ป้ายตัวอักษร, ที่หนีบรูปภาพ, กรอบรูป เป็นต้น โดยขนาดของชิ้นงานมีตั้งแต่ชิ้นเล็ก ๆ ไปจนถึงชิ้นงานขนาดใหญ่
“เท่าที่ทำมาประมาณ 1 ปี โดยอาศัยการจำหน่ายชิ้นงานผ่านทางเฟซบุ๊กอย่างเดียว เรียกว่าตลาดยังไม่ตัน ยังไปได้ สำคัญคือรายละเอียดของชิ้นงาน และรูปแบบที่ทำขึ้น ตรงใจหรือโดนใจกับกลุ่มลูกค้าของเราหรือเปล่า” อุมาพรกล่าว

ทุนเบื้องต้นในการทำชิ้นงานลักษณะนี้ ใช้ประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป ส่วนใหญ่เป็นค่าอุปกรณ์ที่ใช้ในงานไม้ ส่วนทุนวัสดุอยู่ที่ประมาณ 40% ของราคา โดยราคาขายนั้นอยู่ที่ 59-500 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดชิ้นงาน

วัสดุและอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ ประกอบด้วย ไม้อัดสังเคราะห์ (ไม้เอ็มดีเอฟ), เลื่อยไฟฟ้า, เลื่อยฉลุ, สีอะคริลิก, สีสเปรย์, ค้อน, ตะปู, นอต, ปืนยิงกาวร้อน, กาวลาเท็กซ์ และวัสดุตกแต่งอื่น ๆ เช่น เชือกปอ, โบกับริบบิ้น เป็นต้น โดยวัสดุอุปกรณ์เหล่านี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านที่จำหน่ายเครื่องมืองานไม้ ทั่วไป

ขั้นตอนการทำ ยกตัวอย่างการทำ “พวงกุญแจไม้” เริ่มจากการออกแบบโครงร่างของรูปแบบสินค้าที่ต้องการ หากใครมีทักษะการออกแบบด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ก็จะยิ่งช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้น ส่วนใครไม่มีก็อาจใช้การวาดภาพร่างลงบนกระดาษแทนก็ได้ เมื่อออกแบบเสร็จแล้วก็ทำการตัดไม้เพื่อขึ้นแบบ โดยไม้เอ็มดีเอฟขนาดความกว้าง 1.20 เมตร ยาว 2.50 เมตรนั้น สามารถตัดชิ้นงาน เช่น พวงกุญแจ ได้ประมาณ 500 ชิ้น

เมื่อตัดไม้ขึ้นรูปเสร็จก็ทำการลงสี โดยใช้สีขาวทารองพื้นก่อนชั้นแรก จากนั้นทิ้งไว้รอให้สีแห้ง เมื่อสีแห้งก็ทำการทาสีที่ต้องการลงไปอีกครั้ง ทิ้งไว้ให้สีแห้งเช่นเดิม เมื่อสีแห้งแล้วก็ทำการตกแต่งขอบให้เรียบ ไม่ให้มีเสี้ยนติดอยู่ที่ชิ้นงาน จากนั้นทำการขัดสีให้ดูเหมือนว่ามีสีถลอกที่งานไม้ โดยใช้กระดาษทรายขัดที่ตัวชิ้นงานและที่ขอบชิ้นงาน ขั้นตอนนี้ต้องระมัดระวังอย่าขัดแรงเกินไป เพราะสีที่ทาไว้อาจถลอกมากเกินไปจนดูไม่สวย ต้องค่อย ๆ ขัดทีละนิดเพื่อให้เห็นสีรองพื้นที่ทาไว้ จากนั้นทำการติดวัสดุตกแต่งที่เลือกไว้ ทำการบรรจุลงบรรจุภัณฑ์ เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำ

“จริง ๆ ขั้นตอนในการลงมือทำมีไม่มาก และไม่ได้แตกต่างจากงานไม้ทั่ว ๆ ไป ที่จะเน้นเป็นพิเศษคือเรื่องของไอเดียและการคิดรูปแบบของชิ้นงานมากกว่า” วิเชียร เจ้าของชิ้นงาน กล่าว
สนใจติดต่อกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ จาก “งานไม้ทำมือ” รายนี้ ติดต่อได้ที่ โทร. 08-3542-9421 หรือตามเฟซบุ๊กข้างต้น และนี่ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งงานไม้ประดิษฐ์ที่แม้จะเคยนำเสนอมาหลายครั้งหลาย หน แต่ก็ยังมีคนช่างคิดประดิษฐ์ชิ้นงานออกมาขายได้อยู่เรื่อย ๆ สมกับวลีที่ว่า “มีไอเดีย ไม่มีตัน!!” จริง ๆ.
...............................................................
คู่มือลงทุน...งานไม้ทำมือ
ทุนเบื้องต้น ประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป
ทุนวัสดุ ประมาณ 40% ของราคาขาย
รายได้ ราคาขาย 59-500 บาทต่อชิ้น
แรงงาน 1 คนขึ้นไป
ตลาด กลุ่มของใช้ ตกแต่ง ของชำร่วย
จุดน่าสนใจ ขายไอเดีย ใช้เงินทุนไม่สูงมาก
ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : เรื่อง / ภาณุพงศ์ พนาวัน : ภาพ

credit by :  http://www.dailynews.co.th/Content/Article/199956/‘งานประดิษฐ์จากไม้’ทำเงินได้จาก+‘งานทำมือ’

Read More...


ปลูกพุทราขาย ใช้สูตร+‘นมสด’+น่าสน!!

สำหรับ “พุทรานมสด” ต้องบอกว่าเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เป็นพุทราที่ใช้เทคนิคการใช้นมสดมาใส่ ทำให้เนื้อพุทรานั้นหอมหวานกรอบอร่อย


สำหรับ “พุทรานมสด” ต้องบอกว่าเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค เป็นพุทราที่ใช้เทคนิคการใช้นมสดมาใส่ ทำให้เนื้อพุทรานั้นหอมหวานกรอบอร่อย ซึ่งทีม “ช่องทางทำกิน” ร่วมคณะของ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปเยี่ยมชม “ไร่ชัยชนะ&ชลลดา” ไร่พุทรานมสดที่ขึ้นชื่อว่าอร่อย และปลอดสารเคมี ซึ่ง “พิชัย ดอนกลาง” เจ้าของไร่ ก็ได้แบ่งปันเคล็ดลับความรู้การปลูกพุทรานมสดที่อร่อยมาให้ลองพิจารณากัน...

พิชัย เจ้าของไร่ผู้ปลูกพุทรานมสด เล่าว่า ก่อนที่จะทำไร่พุทรานั้นเคยทำงานเป็นพนักงานโรงแรมอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ในเมืองหลวงค่าครองชีพสูงทำให้เงินเดือนไม่ค่อยเหลือ จึงตัดสินใจเดินทางมาที่ อ.วังนํ้าเขียว มาทำการเกษตร ในที่ดินของพ่อตา ในช่วงแรกก็ปลูกข้าวโพด ปลูกดอกเบญจมาศ ปลูกผักสลัด แต่ปัจจุบันเลิกปลูกพืชเหล่านี้แล้ว หันมาปลูก “พุทรานมสด” จากการที่มีคนนำพันธุ์พุทราที่เป็นพันธุ์จากไต้หวันมาให้ทดลองปลูก บอกว่าปลูกง่าย จึงลองปลูกในพื้นที่ 3 ไร่ โดยได้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. สนับสนุนเงินกู้ 130,000 บาท ในการลงทุน

การลงมือปลูกพุทรานมสด ก็เริ่มจากศึกษาวิธีการปลูกการดูแลพุทราอย่างจริงจัง มีการอบรมที่ไหนก็ไปฟัง เรียนรู้ศึกษาด้วยตัวเอง จนสามารถพัฒนาการปลูกพุทรานมสดในไร่ ทำให้ผลผลิตนั้นมีคุณภาพ หอมหวานกรอบ ไร้สารเคมี ได้รับความนิยมจากผู้บริโภค ซึ่งในการปลูกครั้งแรก 3 ไร่ สามารถผลิตพุทราขายได้ 500,000 บาท หลังจากนั้นจึงเริ่มขยายพื้นที่ปลูกขึ้นมาอีก 2 ไร่ เป็น 5 ไร่

การปลูกพุทรานมสดนั้น เริ่มจากการขุดหลุมประมาณ 50x50 ซม. ใช้ปุ๋ยคอกโรยรองก้นหลุม นำต้นพันธุ์ลงปลูก โดยปลูกระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 5x5 เมตร หากเป็นที่ลุ่มให้ทำการยกร่องตรงกลางเพื่อป้องกันนํ้าท่วม ในการปลูก 1 ไร่ สามารถปลูกต้นพุทราได้ประมาณ 64 ต้น ค่าต้นพันธุ์ก็อยู่ที่ต้นละประมาณ 150 บาท

การปฏิบัติดูแลรักษา การดูแลให้นํ้าควรให้วันละ 1 ครั้ง จนถึง 3 เดือน ก็ให้นํ้าวันเว้นวัน หรือจะให้ 3 วันครั้งก็ได้ ให้ดูที่สภาพดิน การให้ปุ๋ยนั้นให้ใส่ปุ๋ยสูตร 15x15x15 ใส่เดือนละครั้ง ทั้งปี ส่วน “นํ้าหมักนมสด” ที่ทำให้เป็น “พุทรานมสด” นั้นจะรดทุก 10 วัน ตอนที่ต้นพุทราเริ่มออกลูก โดยนํ้าหมักนมสดนี้จะเป็นตัวเสริมแคลเซียมให้กับพุทรา ทำให้พุทราเนื้อแน่น กรอบ และหอม

สูตรนํ้าหมักนมสดนั้น ใช้ส่วนผสมคือ...นมวัว 60 ลิตร (ต้องใช้นมวัวสดที่มีคุณภาพถ้าต้องการให้พุทรามีคุณภาพ โดยซื้อจากฟาร์มในราคาลิตรละประมาณ 25 บาท) กากนํ้าตาล 30 ลิตร และเชื้อจุลินทรีย์ 10 ลิตร นำมาผสมรวมกันในถังหมักทิ้งไว้ 30 วัน การใช้ ก็ใช้นํ้าหมัก 1 ลิตร ผสมนํ้า 100 ลิตร แล้วทำการรดต้นพุทรา

เพื่อที่จะทำให้พุทราหวาน ก็จะต้องทำการเด็ดผลพุทราที่ออกใน 1 ต้น ออกไป 50% เช่นพุทรา 1 ต้น ออกลูกประมาณ 100 กิโลกรัม ก็ให้เด็ดพุทราลูกที่ไม่สวยออกไป 50% ถ้าปล่อยให้ปริมาณลูกพุทราเยอะเกินไป จะทำให้ไม่หวาน
 
แล้วพอผลพุทรานั้นเริ่มโตประมาณเท่าเหรียญ 10 บาท ก็ให้ ใช้ถุงพลาสติกห่อ ถุงละ 1 ผล โดยเลือกผลที่ดูสวยไม่บิดเบี้ยว วิธีนี้เป็นวิธีการป้องกันแมลง ซึ่งสามารถป้องกันได้ 100% โดยที่ไม่ต้องใช้สารเคมีฆ่าแมลง และการป้องกันแมลงอีกวิธีหนึ่งของไร่ชัยชนะก็คือ การนำ ลูกเหม็น มาผูกติดไว้ตามปลายกิ่ง

หลังจากห่อผลพุทราแล้วก็ให้ดูแลรดนํ้า ใส่ปุ๋ย รดนํ้าหมักนมสด ตามปกติ นอกจากนั้นก็คอยดูแลตัดแต่งกิ่ง จนประมาณ 7 เดือน ก็สามารถเก็บผลขายได้ ซึ่งจะเก็บลูกที่แก่ประมาณ 70% โดยดูจากขั้วพุทราจะยุบลงไปในผลพุทรา

“พุทรานมสดจะให้ผลผลิตหลังจากปลูกประมาณ 6 เดือน ซึ่งในระยะแรกไม่ควรเก็บผลผลิต ควรปลิดทิ้ง เพราะต้นพุทราอายุน้อยเกินไป ต้นยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ ควรตัดแต่งรอผลผลิตรุ่นที่ 2” ผู้สันทัดกรณีแนะนำ

และยังบอกว่า หลังจากที่ต้นพุทรานมสดนั้นให้ผลผลิตแล้วใน 1 รอบ ประมาณ 7-8 เดือน ก็ทำการตัดแต่งกิ่ง โดยตัดกิ่งต้นพุทราออกให้เหลือความยาวประมาณ 1 คืบ แล้วก็ดูแลปกติ ประมาณ 4 เดือน ต้นพุทราก็เริ่มเจริญเติบโต และออก ลูกในรอบใหม่ พอได้ระยะ 7 เดือน ก็สามารถเก็บขายได้การลงทุนทำไร่พุทรานั้น ใช้เงินทุนประมาณ 90,000 บาทต่อไร่ (ไม่รวมที่ดิน) ซึ่งสามารถเก็บผลผลิตได้ประมาณ 3,300 กิโลกรัม/ไร่/ปี โดยพุทรานมสดจะขายในราคากิโลกรัมละประมาณ 50 บาท

รายได้ 1 ปี ก็อยู่ที่ประมาณ 165,000 บาท หักทุนต่อไร่แล้วก็จะเหลือรายได้ประมาณ 75,000 บาท /ไร่/ปี ซึ่งเป็นรายได้ที่ยังไม่หักค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ

“พุทรานมสดปลูกได้ทุกที่ ทั้งในที่ดอนและที่ราบลุ่ม ตั้งแต่ดินเหนียว ดินทราย จนถึงดินลูกรัง” พิชัย บอก

ผู้ที่สนใจ “พุทรานมสด” อยากซื้อรับประทาน หรืออยากศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมจากพิชัย สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ “ไร่ชัยชนะ&ชลลดา” อยู่ที่ อ.วังนํ้าเขียว จ.นครราชสีมา เบอร์โทรศัพท์ติดต่อคือ 08-7239-2004 ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบ “ช่องทางทำกิน” ทางด้านการเกษตร ที่มีความน่าสนใจไม่น้อยเลย.
บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์ : รายงาน
credit by :  http://www.dailynews.co.th/Content/Article/201518/‘ปลูกพุทราขาย’+ใช้สูตร+‘นมสด’+น่าสน!!

Read More...


ช่างเครื่องเสียง’ อัพเกรดอัพอาชีพ..น่าสน



 “งานช่าง” บางเรื่องสามารถคิดทำต่อยอด ’ช่องทางทำกิน“ ออกมาจากงานเดิมได้ โดยเฉพาะการเสริมในเรื่องของ “การบริการ” เพิ่มเข้าไป โดยสามารถอาศัยทักษะพื้นฐาน และความชำนาญด้านเดิม “พลิกแพลง-ปรับตัว” ให้เข้ากับยุคกับสมัยได้ไม่แพ้อาชีพอื่น ๆ อย่างเช่นงาน ’บริการอัพเกรดเครื่องเสียง“ ของ “อดิศักดิ์ สุจริต” รายนี้...

อดิศักดิ์ เจ้าของงานบริการรับอัพเกรดเครื่องเสียง เล่าว่า คลุกคลีกับเครื่องเสียง เครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิด มาตั้งแต่สมัยเรียนจบใหม่ ๆ โดยยึดอาชีพช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2532 ซึ่งตอนนั้นทำงานประจำให้กับบริษัทเครื่องเสียงแห่งหนึ่ง ก่อนจะลาออกมาเปิดธุรกิจของตัวเอง รับให้บริการซ่อมและอัพเกรดเครื่องเสียงให้กับลูกค้าโดยตลอด โดยใช้ชื่อร้านว่า 4seasonsaudio โดยมีหน้าร้านอยู่ที่ศูนย์การค้าอัมรินทร์พลาซ่า ชั้น 3 และมีเว็บไซต์ของร้านคือ www.4seasonsaudio.com ไว้เป็นอีกช่องทางหนึ่งสำหรับการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า

ส่วนสาเหตุที่พลิกผันจากงานซ่อมหันมาให้บริการอัพเกรดเครื่องเสียง เขาบอกว่า เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป จากเดิมที่นิยมการซ่อม แต่ปัจจุบันจะหันไปซื้อเครื่องเสียงใหม่แทนมากกว่า ดังนั้นช่างที่เคยรับงานซ่อมเช่นเขา จึงจำเป็นต้องเน้นงานปรับเครื่องเสียง-การอัพเกรดเครื่องเสียงแทน...

“แต่ก่อนหนึ่งซอยจะมีร้านรับซ่อมต้นซอย กลางซอย ท้ายซอย แต่เดี๋ยวนี้ปิดไปหมด เพราะลูกค้าไม่นิยมซ่อม แต่ซื้อใหม่ ก็เลยต้องปรับตัว หันมาให้บริการอัพเกรดหรือการโมดิฟายด์ แทน” อดิศักดิ์กล่าว

งานบริการนี้โดยพื้นฐานยังใช้ “ทักษะ” ที่ “ช่างไฟ-ช่างอิเล็กทรอนิกส์” ทุกคนมีติดตัว เพียงแต่ว่าเรื่อง “การออกแบบ-การอัพเกรด” นั้น ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และความชำนาญของช่างแต่ละราย เช่น ต้องรู้จักอุปกรณ์ที่อัพเกรด, ต้องทราบว่าควรเลือกวัสดุแบบใด ตรงนี้ขึ้นกับการศึกษาเฉพาะของช่างแต่ละคน ซึ่งการอัพเกรดเครื่องเสียงจะอยู่ที่ “ภาคจ่ายไฟ” เป็นหลัก ตั้งแต่อุปกรณ์ท้ายเครื่อง จนถึงอุปกรณ์บางตัวในภาคจ่ายไฟ...

ทุนเบื้องต้น ใช้ประมาณ 10,000 บาทขึ้นไป หรือถ้ามีอุปกรณ์ช่างอยู่บ้างก็จะลดลงอีก ทุนหมุนเวียนอยู่ที่ปริมาณการรับบริการ ถ้าช่วงใดมีสต๊อกอะไหล่ไว้ก็ใช้ทุนไม่มาก รายได้-ค่าบริการขึ้นอยู่กับงาน แต่ส่วนใหญ่ค่าบริการอยู่ในช่วง  2,000-20,000 บาท ส่วนเครื่องมืออุปกรณ์หลัก ๆ ก็มี มิเตอร์วัดกระแสไฟฟ้า, ปากกาหัวแร้ง, ตะกั่ว, ค้อน, ไขควง เป็นต้น

ขั้นตอนการให้บริการ เริ่มตั้งแต่เมื่อลูกค้าเดินเข้ามา ลูกค้าจะแจ้งความประสงค์ว่าต้องการรับการบริการชนิดไหน อาทิ เปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ เปลี่ยนอะไหล่ให้มีคุณภาพดีกว่าเก่า หรือจะเป็นงานเกี่ยวกับการปรับตั้งเครื่องเสียงใหม่ จากนั้นก็จะลงลึกเรื่องในเรื่องของงบประมาณ โดยงบประมาณจะเป็นตัวแปร ที่กำหนดว่างานบริการที่จะต้องทำนั้น จะมีราคาค่าบริการมากน้อยแตกต่างกันไปเท่าใด

และนอกเหนือจากการที่ลูกค้าหิ้วเครื่องเสียงเข้ามารับบริการปรับเครื่องใหม่ ที่ร้านเองแล้ว ก็ยังมีการบริการรับปรับเครื่องเสียงนอกสถานที่ ซึ่งถือว่าเป็นบริการเสริม ที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับตัวช่างหรือร้านด้วยเช่นกัน เช่น การติดตั้งเดินสายไฟฟ้าใหม่ทั้งระบบ การเดินสายและเปลี่ยนสายลำโพงเครื่องเสียงใหม่ เป็นต้น

“การอัพเกรด เราสามารถเบิกเงินลูกค้าก่อนครึ่งหนึ่งได้ และใช้กำไรเป็นทุนหมุนเวียน ซึ่งการอัพเกรดทำได้เร็วกว่างานซ่อม เพราะเป็นการเปลี่ยนอุปกรณ์ใหม่ให้เครื่องดีขึ้น ไม่ต้องหาต้นเหตุของอาการเสียเหมือนงานซ่อม ทั้งนี้ ช่างที่รับทำต้องสร้างความน่าเชื่อถือ ซื่อสัตย์ และต้องควบคุมความผิดพลาดให้ได้ เพราะลูกค้าจะคาดหวังความพึงพอใจเป็นพิเศษ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ถือว่าสำคัญ และต้องทำให้ลูกค้าไว้วางใจ” เป็นคำแนะนำจากอดิศักดิ์

นอกจากนี้ เขายังบอกว่า อยากฝากถึงเพื่อนช่าง โดยเฉพาะในต่างจังหวัด จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้อยู่รอดกับความเปลี่ยนแปลง จากงานซ่อมพื้นฐาน ก็อัพเกรด ยกระดับอาชีพได้ด้วยการเพิ่มเติมในเรื่องเทคนิคเข้าไป ซึ่งตลาดตรงนี้กำลังเติบโตในปัจจุบัน และมีรายได้ที่น่าสนใจ...

บริการโมดิฟายด์ ’อัพเกรดเครื่องเสียง“ เป็นอีกรูปแบบ ’ช่องทางทำกิน“ ที่น่าสนใจ ซึ่งสำหรับอดิศักดิ์เขายังผลิต “กล่องไฟ” เพื่อเพิ่มคุณภาพของเครื่องเสียงและเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อเป็นทางเลือกเสริมให้ลูกค้าที่ต้องการยกระดับเครื่องเสียงอีกด้วย ใครสนใจก็สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 08-9891-4247 หรือใครสนใจลงลึกรายละเอียดก็สอบถามได้เช่นกัน ซึ่งนี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่พลิกวิกฤติจากงานพื้นฐาน ด้วยการอัพเกรดอาชีพ จนเกิดเป็นงานบริการที่น่าสนใจ.
ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : เรื่อง/พิชญวัฒน์ ปรุงศักดิ์ : ภาพ

credit by :  http://www.dailynews.co.th/Content/Article/160653/‘ช่างเครื่องเสียง’+อัพเกรดอัพอาชีพ..น่าสน

Read More...


งาน ‘เพนท์แก้ว’ ทุนต่ำ...ขายไอเดีย..กำไรดี


งานฝีมือที่ใช้ทักษะศิลปะยังต่อยอด-พลิกแพลงได้ตลอด จุดสำคัญคือค้นหาเอกลักษณ์ สร้างจุดเด่น เล่นกับจุดขาย เพื่อให้ชิ้นงานโดดเด่นโดนใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากที่สุด ยิ่งปัจจุบันมีช่องทางที่สามารถทำการขายได้หลากหลายรูปแบบ โอกาสจะทำเงินสร้างอาชีพก็ยิ่งมีเพิ่มขึ้น อย่างเช่นงาน ’เพนท์แก้ว“ ที่ทีม ’ช่องทางทำกิน“ จะนำเสนอในวันนี้...
      
“ตรีเนตร วิจิตรศักดิ์” เจ้าของงานเพนท์แก้ว ที่ใช้ชื่อว่า Cup and Mug Design เล่าว่า เดิมทีมีอาชีพเป็นพนักงานบริษัท ทำงานประจำ เป็นมนุษย์เงินเดือน ต่อมารู้สึกเบื่อ และคิดอยากจะหาอาชีพส่วนตัวที่เป็นธุรกิจของตัวเองทำ จึงลาออกจากงานประจำ ออกมาเปิดร้านจำหน่ายเสื้อผ้า แต่ด้วยความที่เป็นอาชีพที่ใช้เงินทุนสูง ประกอบกับในตลาดมีการแข่งขันกันมาก จึงมองหางานอาชีพที่ลงทุนน้อยกว่า และไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านเพื่อจำหน่ายชิ้นงาน จนมาเจอกับงานเพนท์แก้วนี้...

เขาเล่าอีกว่า สำหรับงานเพนท์แก้ว เท่าที่ศึกษาในตลาดส่วนใหญ่จะมีรูปแบบซ้ำ ๆ เช่น ไม่เป็นลายดอกไม้ ก็จะเป็นลายกราฟิกเรียบ ๆ โดยลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มลูกค้าผู้ใหญ่ จึงมองว่าหากใส่ลายเส้นที่ดูสนุก ๆ ให้อารมณ์กวน ๆ ก็น่าจะมีช่องว่างในตลาดที่ชิ้นงานจะแทรกเข้าไปได้ จึงเริ่มทดลองผลิตชิ้นงานเพื่อจำหน่าย โดยอาศัยช่องทางผ่าน

โซเชียล เน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊ก ในชื่อ www.facebook.com/CupandMug.Design นอกจากนั้นยังใช้อินสตาแกรมชื่อ cupandmugdesign นำเสนอชิ้นงานให้ลูกค้าได้เลือกอีกด้วย โดยทำมาได้ประมาณ 3 เดือนแล้ว ซึ่งผลตอบรับถือว่าดี

“ข้อดีของช่องทางนี้คือเราและลูกค้าสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ตลอดเวลา อีกทั้งทุนที่ใช้ในเรื่องของการตกแต่งแบบการเปิดร้าน แบบการมีหน้าร้าน ก็ตัดไป แต่จุดสำคัญคือต้องทำให้ลูกค้าเชื่อถือ ไว้ใจ ดังนั้น รูปสินค้าที่เราโพสต์ลงไปจะเน้นรูปจากชิ้นงานจริง จะไม่มีการตกแต่งดัดแปลง” ตรีเนตรกล่าว...

งานเพนท์แก้วที่ทำนั้น เขาบอกว่า ชิ้นงานที่ทำขึ้นจะเน้นลายเส้นที่ดูเป็นวัยรุ่น เน้นลายกราฟิก และลายการ์ตูนกวน ๆ โดยภาชนะที่นำมาเพนท์ลายนั้น นอกจากแก้วน้ำรูปทรงต่าง ๆ แล้ว ก็ยังเพนท์งานลงบนภาชนะอื่น ๆ อาทิ จาน, ถ้วย, ชาม, เหยือก และนอกจากจะเพนท์ชิ้นงานสำเร็จรูปเพื่อจำหน่าย ก็ยังมีบริการรับสั่งทำชิ้นงานตามออร์เดอร์ แต่จะเน้นที่ลวดลายกราฟิก ลายการ์ตูน จะไม่เน้นงานเพนท์ภาพเหมือน

ชิ้นงานแต่ละชิ้นจะใช้เวลาทำประมาณ 1 ชั่วโมงต่อ 1 ชิ้นงาน หลายคนมองแล้วอาจจะดูง่าย แต่การเพนท์แก้วจะแตกต่างจากการวาดภาพหรือระบายสีบนกระดาษหรือผ้าใบ เพราะแก้วที่นำมาเพนท์จะมีคุณสมบัติโค้งมน ผิวเรียบเป็นมัน เงา และลื่น ดังนั้น การเพนท์แก้วแต่ละใบจำเป็นต้องอาศัยความใจเย็น อดทน และใช้ความประณีตมาก อีกทั้งหากขณะเพนท์งาน จับถือไม่ดี อาจเกิดการตกหล่นหรือกระแทกจนทำให้ชิ้นงานเสียหาย

ทุนเบื้องต้นอาชีพนี้ ใช้ประมาณ 3,000 บาท ส่วนทุนวัสดุอยู่ที่ประมาณ 40% จากราคาขาย ซึ่งเริ่มตั้งแต่ 150-260 บาท ขึ้นกับลายและขนาดภาชนะ และสำหรับวัสดุอุปกรณ์ก็ประกอบด้วย แก้ว หรือภาชนะรูปทรงต่าง ๆ (จาน, ชาม, ถ้วย, เหยือก), ปากกามาร์คเกอร์อะคริลิกสีต่าง ๆ ใช้ลงเส้นหรือเพนท์, กรรไกร, คัตเตอร์, ฟ็อกกี้ฉีดน้ำ สำหรับฉีดทำความสะอาดภาชนะ, ถุงมือยาง ใช้ใส่ขณะเพนท์ เพื่อป้องกันรอยนิ้วมือหรือคราบสกปรกติดเปื้อนลงบนสี และผ้าสะอาดสำหรับเช็ด ซึ่งหลัก ๆ มีอยู่เท่านี้ โดยอุปกรณ์เหล่านี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านจำหน่ายเครื่องเขียนทั่วไป...

ขั้นตอนการทำมีไม่มาก เริ่มจากเลือกภาชนะที่จะนำมาเพนท์ลาย โดยเลือกจากขนาด รูปทรง หรือพื้นผิวของภาชนะที่ใช้ จากนั้นนำภาชนะที่เลือกมาทำความสะอาดด้วยการฉีดน้ำ ใช้ผ้าเช็ดทำความสะอาดให้ทั่ว ผึ่งไว้ให้แห้งสักพัก จึงนำภาชนะนั้นมาลงมือทำการเพนท์ลวดลาย สำหรับการเพนท์นี้ หากยังไม่ชำนาญในการลงเส้น อาจใช้การร่างภาพด้วยดินสอก่อน หรือหากต้องการทำลายเดิมซ้ำกันหลาย ๆ ใบ อาจใช้วิธีตัดกระดาษทำเป็นแม่แบบก็ได้

เมื่อเพนท์ลายลงบนแก้วหรือภาชนะครบตามต้องการแล้ว นำแก้วหรือภาชนะที่เพนท์มาผึ่งลมให้แห้ง จากนั้นทำการห่อด้วยกระดาษเพื่อป้องกันฝุ่นละอองหรือสิ่งสกปรกติดแก้ว บรรจุใส่กล่องหรือภาชนะที่ใช้เก็บสินค้า เป็นอันเสร็จขั้นตอน

“ขั้นตอนมีไม่มาก แต่ต้องใช้ทักษะในการวาดการเพนท์ลายพอสมควร ปากกามาร์คเกอร์อะคริลิกที่เลือก แนะนำว่าควรศึกษาให้ดี เพราะแต่ละยี่ห้อก็จะให้คุณสมบัติของสีหรือลายเส้นแตกต่างกัน ตรงนี้ยืนยันว่ามีผลมากกับการสร้างสรรค์ชิ้นงาน” ตรีเนตร เจ้าของงานเพนท์แก้ว กล่าวแนะนำ...
                           
ใครสนใจติดต่อตรีเนตร  ติดต่อได้ที่ โทร. 08-7558-1655 และเข้าไปดูรูปแบบสินค้าได้ตามช่องทางออนไลน์ที่ระบุไว้ข้างต้น ซึ่งงาน ’เพนท์แก้ว“ รูปแบบนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งงานฝีมือที่นำทักษะเชิงศิลป์มาประยุกต์ใช้ จนกลายเป็น ’ช่องทางทำกิน“ ที่น่าสนใจ.
ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : เรื่อง/สุนิสา ธนพันธสกุล : ภาพ

credit by :  http://www.dailynews.co.th/Content/Article/9280/งาน+‘เพนท์แก้ว’+ทุนต่ำ...ขายไอเดีย..กำไรดี

Read More...


‘กระเป๋าผ้า’+วัสดุเด่นลูกเล่นดีมีเงิน!


งานประดิษฐ์จากผ้ายังคงมีโอกาส-มีช่องทาง ตลาดยังไม่ตันอย่างที่หลายคนคิด ยิ่งพัฒนาชิ้นงานให้มีลูกเล่น สร้างจุดเด่นด้วยการออกแบบ และวัสดุ ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะทำเงินจากชิ้นงานกลุ่มนี้ อย่างเช่นงาน “กระเป๋าผ้า” ของ “ทิฆัมพร พรายแก้ว-อิศรา ปิ่นถาวรรักษ์” สองหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ ที่ทีม ’ช่องทางทำกิน“ มีข้อมูลมานำเสนอ...

ทิฆัมพร เล่าว่า เธอกับอิศรามีอาชีพเป็นสถาปนิก ซึ่งเป็นงานประจำที่ทำอยู่ แต่ด้วยความที่ชอบการออกแบบและคิดอยากที่จะทำธุรกิจหรือผลิตสินค้าที่เป็น งานจากไอเดีย จึงมองไปที่งานผ้าประดิษฐ์รูปแบบกระเป๋า ด้วยมองว่าเป็นสินค้าที่ทำตลาดได้ และมีต้นทุนไม่สูงนัก ประกอบกับมีความสนใจในวัสดุชนิดนี้อยู่เป็นทุนเดิม จึงตัดสินใจทำงานกระเป๋าผ้านี้ขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า Cottonplay ด้วยเหตุที่มีวัสดุหลักคือ ผ้าคอตตอน เป็นวัสดุสำคัญที่ใช้ในการทำ

เธอบอกว่า ไม่มีหน้าร้าน แต่อาศัยการขายตามตลาดนัดงานฝีมือทั่วไป และจำหน่ายออนไลน์เป็นหลัก โดยมีทั้งเว็บไซต์ และเปิดขายในเฟซบุ๊กคือ  www.cottonplaythai.com และ  www.facebook.com/Cottonplaythai โดยขายผ่านทางช่องทางนี้มาได้ประมาณ 1 ปีแล้ว ซึ่งการตอบรับก็ค่อนข้างดีมาก

ปัจจุบันกระเป๋าผ้าที่ผลิตขึ้นมีหลากหลาย โดยจะคิดแบบใหม่ออกมาเพิ่มเติมอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ลูกค้าไม่เบื่อ แต่ละแบบก็จะผลิตจำนวนไม่มาก และมักจะทำเป็นคอลเลก ชั่น เพื่อไม่ให้ชิ้นงานซ้ำกันจนเกินไป โดยรูปแบบหลัก ๆ ที่ทำก็มีตั้งแต่ กระเป๋าพับ, กระเป๋าสำหรับใส่ของ, กระเป๋าถือ, กระเป๋าหิ้ว, ซองผ้าใส่แท็บเล็ต เป็นต้น

“เหตุที่เลือกผ้าชนิดนี้เพราะมีเสน่ห์ ลวดลายเยอะ แต่ละประเทศจะมีเนื้อผ้าแตกต่างกัน ทำให้ใส่ลูกเล่น หรือสร้างความแตกต่างด้วยตัววัสดุได้ง่าย” ทิฆัมพรกล่าว

ขณะที่ อิศรา บอกว่า นอกจากผ้าคอตตอนก็ยังมีผ้าชนิดอื่น เช่น ผ้าแคนวาส และวัสดุ เช่น หนังเทียม หนังพียู เข้ามาประกอบชิ้นงานด้วย เพื่อเพิ่มลูกเล่น ลูกค้าปัจจุบันมีทั้งคนทำงาน วัยรุ่น นักศึกษา จนถึงต่างชาติ

สำหรับการขายผ่านอินเทอร์เน็ต หรือเปิดร้านออนไลน์แบบนี้ เขาบอกว่า เหมาะสำหรับคนที่คิดจะทำงานฝีมือเป็นอาชีพเสริม สามารถเปิดร้านหรือสื่อสารกับลูกค้าผ่านทางอุปกรณ์เคลื่อนที่ได้ตลอดเวลา ลูกค้าที่สั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางนี้มักไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องราคา เพราะการค้นหาสินค้าจนมาเจอร้านนั้น แสดงว่าลูกค้ามีความสนใจ และมีความต้องการสินค้ามาแล้วระดับหนึ่ง แต่ก็มีข้อที่ต้องระวังคือ จะต้องมีการติดตาม สร้างกิจกรรมเคลื่อนไหวบนหน้าร้านตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ลูกค้าลืม และช่วยทำให้ร้านออนไลน์มีความน่าสนใจมากขึ้น นี่เป็นเคล็ดลับอีกส่วนที่เขาแนะนำ

ทุนเบื้องต้น ลงทุนประมาณ 30,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าอุปกรณ์สำคัญที่ต้องใช้ คือ จักรเย็บผ้า และผ้าที่ต้องสต๊อกไว้ ส่วนทุนวัสดุประมาณ 50% จากราคาขาย ซึ่งสินค้าจะขายที่ราคา 120-400 บาท ขึ้นกับผ้าที่ใช้ทำกระเป๋า

วัสดุ-อุปกรณ์ หลัก ๆ อาทิ จักรเย็บผ้า, เข็มกับด้าย, กรรไกร, เข็มหมุด, กระดาษแข็ง (ใช้ทำแพทเทิร์น), ผ้าคอตตอน, ผ้าแคนวาส, หนังพียูหรือหนังเทียม, หนังแท้, สายหิ้ว (หูกระเป๋า) และวัสดุตกแต่งอื่น ๆ  เช่น ซิป, กระดุม, ริบบิ้น, แม่เหล็กติดกระเป๋า เป็นต้น ซึ่งวัสดุเหล่านี้ซื้อได้ตามแหล่งงานผ้าทั่วไป เช่น สำเพ็ง, พาหุรัด, วงเวียนใหญ่

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากการออกแบบกระเป๋า และเลือกวัสดุ เช่น เนื้อผ้า ลวดลาย สีสันก่อน จากนั้นเมื่อได้แบบที่ต้องการก็ให้ทำการลอกลายหรือทำแพทเทิร์นโดยวาดลงบน กระดาษแข็ง โดยแบบกระเป๋านั้น สามารถหาข้อมูลได้ในอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีให้เลือกมากมาย

เมื่อลอกลายลงกระดาษแข็งแล้ว ก็ทำการพับผ้าสองชิ้น นำแบบกระเป๋าที่วาดไว้มาทาบ ใช้กรรไกรตัดตามแบบ จากนั้นทำการเย็บขึ้นทรงกระเป๋า โดยเย็บจากด้านใน และเหลือช่องไว้ประมาณ 1 นิ้ว สำหรับกลับด้านกระเป๋า ทำการตกแต่งด้วยวัสดุตกแต่ง เย็บประกอบสายกระเป๋าหรือหูหิ้ว ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนหลัก ๆ ในการทำ “กระเป๋าผ้า”

“ขั้นตอนหลักเหมือนกับงานผ้าทั่วไป ที่แตกต่างคงเป็นการออกแบบมากกว่า จากที่ทำมา พูดได้เลยว่าตลาดตรงนี้ยังไม่ตัน เพราะต่อยอดแตกแขนงออกไปได้เรื่อย ๆ ในส่วนของวัสดุ ควรที่จะศึกษาเรื่องแหล่งวัสดุ เพราะจะทำให้ได้วัสดุที่ถูกต้อง เพราะแต่ละแห่ง ผ้าก็จะแตกต่างกัน” ทิฆัมพรกล่าว
สนใจงาน ’กระเป๋าผ้า“ ของทิฆัมพรและอิศรา ต้องการติดต่อเจ้าของงานกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ รายนี้ ติดต่อได้ที่ โทร. 08-7719-2112, 08-2188-0598 ซึ่งนี่ก็ถือว่าเป็นอีกธุรกิจเล็ก ๆ ที่น่าสนใจ เหมาะสำหรับคนรุ่นใหม่ที่คิดมองหาอาชีพเสริม เป็นทางเลือกในการเพิ่มรายได้.
ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : เรื่อง/ วรพรรณ เลอสิทธิศักดิ์ : ภาพ
...............................................................................................................
คู่มือลงทุน...งานกระเป๋าผ้า
ทุนเบื้องต้น ประมาณ 30,000 บาท
ทุนวัสดุ ประมาณ 50% จากราคา
รายได้ ราคาใบละ 120-400 บาท
แรงงาน 1-2 คนขึ้นไป
ตลาด ย่านชอปปิง, ขายออนไลน์
จุดน่าสนใจ ทำขายเป็นอาชีพเสริมก็ได้

credit by :  http://www.dailynews.co.th/Content/Article/158394/‘กระเป๋าผ้า’+วัสดุเด่นลูกเล่นดีมีเงิน!

Read More...


‘สมุดทำมือ’มีลูกเล่นทำเงินเด่นด้วย‘ไอเดีย’


สมุดทำมือนั้น เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งอาชีพ อีก “ช่องทางทำกิน” ที่คนรุ่นใหม่สนใจ จึงมีการต่อยอดพลิกแพลงค่อนข้างหลากหลาย ตอบคำถามได้ว่าตลาดงานฝีมือประเภทนี้ยังไม่ถึงทางตัน ยิ่งหากนำเรื่องของการออกแบบผนวกเข้ากับรายละเอียดของงานที่ประณีต การจะเปิดโอกาส-ทำตลาดให้กับสมุดทำมือก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป อย่างเช่น “สมุดทำมือ” ที่มีลูกเล่น ไอเดียเด่น ของ “วศินี เชยกลิ่นเทศ” รายนี้....

วศินี เจ้าของชิ้นงานสมุดทำมือที่ใช้ชื่อว่า classic note book เล่าว่า งานสมุดโน้ตทำมือนี้เริ่มทำจำหน่ายมาได้ประมาณ 2 ปีแล้ว โดยเปิดร้านค้าออนไลน์และจำหน่ายผ่านทาง http://classic-notebook.exteen.com และ www.facebook.com/ClassicNotebook นัยหนึ่งเพื่อเอามาใช้ในการเรียน เพราะเรียนด้านการออกแบบ อีกนัยหนึ่งเพื่อทำเป็นงานอดิเรกเพราะส่วนตัวเป็นคนชอบงานกระดาษอยู่แล้ว โดยปัจจุบันยึดการทำสมุดทำมือนี้เป็นอาชีพเสริม

สำหรับจุดเริ่มต้นของการทำเป็นอาชีพ ทำสมุดทำมือเพื่อจำหน่าย เธอเล่าว่า เกิดขึ้นเมื่อเริ่มฝึกทำจนชำนาญ จึงทำเป็นของขวัญเพื่อมอบให้เพื่อนคุณแม่ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ปรากฏว่าเพื่อนคุณแม่ชอบ และขอให้ทำเพิ่มหลาย ๆ แบบ เพื่อนำกลับไปเป็นของฝาก จากจุดนั้นจึงคิดว่างานฝีมือตรงนี้ทำเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ในยามว่างได้

“ที่ทำมา 2 ปี ถือว่าตลาดไปได้เรื่อย ๆ และจะดีมากในช่วงใกล้เทศกาลสำคัญ ๆ นอกจากนั้นยังมีลูกค้าที่สั่งทำเพื่อนำไปทำเป็นของขวัญ ของที่ระลึก ของชำร่วย รวมถึงนำไปดัดแปลงเองตามต้องการอีกด้วย” วศินีกล่าว

จุดเด่นของชิ้นงาน เธอบอกว่า วิธีการเย็บสมุด-วิธีการทำสมุดทำมือที่เธอได้ไปเรียนมานั้น เป็นเทคนิควิธีการทำเหมือนหนังสือหรือคัมภีร์โบราณแบบยุโรป ซึ่งวิธีนี้ทำให้หนังสือหรือสมุดมีความแข็งแรงคงทน และแปลกที่ลวดลายของสันสมุดที่ถูกถักและเย็บขึ้น โดยแต่ละเล่มจะมีรูปแบบวิธีการแตกต่างกันไป
ปัจจุบันสมุดที่ทำจะมี 2 แบบ คือ เป็นแบบที่เรียกว่า “บุ๊คไบนด์ดิ้ง” คือสมุดที่สามารถนำไปทำเป็นไดอารี่,สมุดอวยพรคู่แต่งงาน, สมุดภาพ กับอีกแบบเรียกว่า “บุ๊คอาร์ต” ซึ่งแบบนี้จะออกไปในแนวสมุดศิลปะ จะใช้เขียนบันทึกได้น้อย โดยสมุดแบบนี้จะเน้นให้เป็นของขวัญของที่ระลึกมากกว่า
“จุดเด่นของสมุดร้านเราจะอยู่ที่ลายเย็บบนสันสมุด ที่เป็นการเย็บสมุดแบบเปิดสันสมุด ซึ่งเป็นวิชาเก่าแก่จากทางประเทศโปแลนด์ และจะสามารถเปิดสมุดกางออกมาได้กว้างถึง 180 องศา โดยไม่กินเนื้อกระดาษ เมื่อแปะภาพจะไม่บวมหรือโป่งพองออกมาจนดูไม่สวย ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ลูกค้าชอบมาก” เจ้าของชิ้นงานกล่าว

ทุนเบื้องต้น ใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000 บาท ทุนวัสดุ อยู่ที่ประมาณ 20% ของราคาขาย รายได้หรือราคาขายตั้งแต่เล่มละ 120 ไปจนถึง 6,000 บาท ขึ้นกับขนาดและความยากง่ายของแต่ละชิ้นงาน
วัสดุอุปกรณ์ ประกอบด้วย อุปกรณ์รีดกระดาษหรือโบนโฟลเดอร์ (Bone Folder), เหล็กแหลม สำหรับใช้เจาะกระดาษ, เข็ม, เชือกหรือด้าย, กรรไกร, กาวพีวีเอ(ชนิดหนึ่งของกาวลาเท็กซ์แต่แห้งเร็วกว่าและมีความข้นหนืดน้อย กว่า),แปรงทากาว และกระดาษสำหรับทำเนื้อในสมุดกับกระดาษสำหรับใช้ทำปกสมุดโน้ต

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากเลือกกระดาษที่จะใช้เป็นปกด้านนอกและด้านในสมุด ทำการตัดกระดาษจั่วปัง(กระดาษที่ช่วยเพิ่มความแข็งให้กับปกสมุด) ตามขนาดสมุดที่ต้องการ 2 แผ่น จากนั้นทากาวพีวีเอที่กระดาษจั่วปังแล้วแปะกระดาษจั่วปังลงบนข้างหลังกระดาษ ปก โดยให้เหลือขอบทิ้งไว้ประมาณ 1-2 เซนติเมตร พับมุมของกระดาษปกที่ใช้ห่อให้เป็นรอยแล้วคลี่ออก ใช้กรรไกรตัดห่างจากมุมของกระดาษจั่วปังประมาณ 2 มิลลิเมตรทั้ง 4 ด้าน

ขั้นตอนต่อมาให้ทากาวลงบนกระดาษด้านยาวทีละด้านแล้วใช้อุปกรณ์รีดกระดาษ หรือโบนโฟลเดอร์รีดกระดาษให้พับเข้ามาโดยทำทั้ง 2 ด้าน พับมุมเก็บทั้ง 4 มุม แล้วนำกาวมาทาด้านแคบ ใช้อุปกรณ์รีดกระดาษ รีดกระดาษพับเข้ามาเช่นกันทั้ง 2 ด้าน ตัดกระดาษปกในให้เล็กกว่าขนาดปกเล็กน้อย แล้วนำกาวพีวีเอมาทาที่กระดาษปกใน

จากนั้นนำไปแปะที่ปกด้านในให้อยู่กึ่งกลาง ให้ทำแบบนี้ 2 แผ่น ทั้งปกหน้าและปกหลัง เริ่มขั้นตอนการพับกระดาษสำหรับทำไส้ในสมุด ตามจำนวนชั้นที่เราต้องการ โดยทำแม่แบบเพื่อเจาะรูสมุด จากนั้นเริ่มเย็บสมุด และเก็บลายละเอียดที่เหลือ

“วิธีการทำสมุดทำมือจะมีวิธีการคล้าย ๆ กับขั้นตอนการทำหนังสือแบบสมัยก่อน ข้อดีคือ สมุดทำมือแบบนี้จะมีความคงทน มีอายุการเก็บรักษาไว้ได้นาน ไม่ค่อยหลุดร่อนออกมาเป็นแผ่นๆ เหมือนสมุดที่ทากาวที่สันเพียงอย่างเดียว ยิ่งใช้เชือกหรือด้ายที่มีคุณภาพสูง เกรดดีหน่อย ก็จะยิ่งทำให้สมุดทำมือเก็บรักษาไว้ได้นานยิ่งขึ้น” วศินีกล่าว

สนใจผลงาน “ช่องทางทำกิน” รายนี้ ติดต่อได้ที่ โทร.08-5955-7757 อีเมล์ za_nall@hotmail.com หรืออยากจะดูรูปแบบ “สมุดทำมือ” ก็สามารถเปิดเข้าไปดูตามเว็บไซต์กับเฟซบุ๊คข้างต้น หรือใครอยากจะลองฝึกหัดทำก็สามารถสอบถามได้โดยตรงที่เจ้าตัวเลย ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งงานทำมือจากกระดาษที่ถือว่าเป็นศาสตร์และศิลป์ที่ยึด เป็นช่องทางทำกินได้อย่างน่าสนใจ.

ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ :เรื่อง / จุมพล นพทิพย์ :ภาพ
...............................................................................................................
คู่มือลงทุน...สมุดทำมือ
ทุนเบื้องต้น ประมาณ 2,000 บาท
ทุนวัสดุ ประมาณ 20% ของราคา
รายได้ ราคา 120-6,000 บาท/เล่ม
แรงงาน 1 คนขึ้นไป
ตลาด กลุ่มของใช้ ของที่ระลึก
จุดน่าสนใจ ทุนต่ำ ทำเป็นอาชีพเสริมได้

credit by :  http://www.dailynews.co.th/Content/Article/56483/‘สมุดทำมือ’มีลูกเล่นทำเงินเด่นด้วย‘ไอเดีย’

Read More...


ผ้าย้อมคราม’ชูภูมิปัญญาสร้างมูลค่า


“ผ้าย้อมคราม” เป็นผ้าพื้นเมือง จ.สกลนคร ที่มีมาแต่โบราณ ปัจจุบันเป็นที่รู้จักและยอมรับถึงคุณภาพ สวยงาม สวมใส่สบาย แต่สำหรับชาวบ้านผู้ผลิตกลับไม่ค่อยได้มีผลประโยชน์เรื่องรายได้เต็มเม็ด เต็มหน่วย เนื่องจากขาดความรู้ด้านการแปรรูป ทำให้เสียโอกาสเพิ่มมูลค่าสินค้าไปอย่างน่าเสียดาย อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ หรือ สพภ. เห็นความสำคัญ จึงเข้าช่วยต่อยอดผ้าย้อมคราม ทั้งพัฒนาการผลิต เติมดีไซน์สมัยใหม่ และการตลาดเพื่อจำหน่าย สร้างรายได้ให้ชุมชน ที่สำคัญยังเชื่อมโยงเป็นสินค้ารักษ์โลก ผู้สวมใส่ภูมิใจได้ว่านอกจากจะได้ใส่เสื้อผ้าสวยงามแล้ว ยังมีส่วนช่วยสิ่งแวดล้อมด้วย และวันนี้ทีม “ช่องทางทำกิน” ก็มีข้อมูลผ้าย้อมครามมานำเสนอ…

นางเกยูร ไชยะวงศ์ ประธานวิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมคราม ผ้าไหม บ้านกุดแฮด ต.กุดบาก จ.สกลนคร เล่าให้ฟังถึงที่มาของ “ผ้าย้อมคราม” ว่า บ้านกุดแฮดเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชาว “ไทยกะเลิง” มีฝีมือในเรื่องการทำผ้าย้อมครามที่ได้รับถ่ายทอดภูมิปัญญามาจากรุ่นสู่รุ่น ในอดีตจะทอเป็นผ้านุ่ง สวมใส่ในชีวิตประจำวัน ภายหลังความนิยมผ้าทอย้อมครามมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการที่มีบุคคลภายนอกสนใจ ทั้งนักท่องเที่ยว รวมถึงมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อผ้าย้อมครามถึงในชุมชน ทำให้ชาวบ้านเริ่มรวมกลุ่มตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมครามขาย หารายได้เสริมจากอาชีพหลักคือการทำนา

ชาวไทยกะเลิงเชื่อว่า “คราม” เป็นต้นไม้ที่มีชีวิตและจิตวิญญาณของธรรมชาติ เปรียบเท่ากับเทพยดา เมื่อนำมาย้อมผ้าย้อมครามสวมใส่ก็จะเหมือนมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์คอยปกป้อง ทำให้ผู้สวมใส่สุขกายสบายใจ แต่ก่อนหน้านี้เริ่มหาคนที่ทำสวย สมบูรณ์แบบ น้อยลง จนภายหลังจึงมีการผลิตเพื่อจำหน่ายได้มากขึ้น หลังได้รับการสนับสนุนการผลิต และการตลาด จาก สพภ. และ ม.เกษตรศาสตร์ สกลนคร ทำให้มองเห็นช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับชุมชนมากขึ้น

“จากที่ขายเป็นผ้าผืน ก็นำมาดัดแปลง แปรรูป จนได้ผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เป็นที่ต้องการ จนทุกวันนี้ผลิตไม่ทันกับความต้องการของตลาด ตอนนี้ในกลุ่มก็มีความตื่นตัวค่อนข้างสูงในเรื่องนี้ สิ่งที่ทุกคนเห็นพ้องกันก็คือ ภูมิปัญญา ความรู้เก่าก่อนของบรรพบุรุษจะถูกรวบรวมไว้เพื่อถ่ายทอดไปสู่ลูกหลาน ให้ได้เรียนรู้รากเหง้าที่มา วัฒนธรรมของเรา และเชื่อว่าสิ่งที่คนรุ่นเราได้เริ่มไว้จะต่อยอดสร้างรายได้ให้ลูกหลานใน ชุมชน ไม่ต้องเดินทางออกไปทำงานไกลบ้านอีกต่อไป”

วัตถุดิบที่ใช้ในการย้อมสีผ้าด้วยน้ำคราม ได้แก่... ใบคราม ต้นคราม (เป็นไม้พุ่มล้มลุก ปลูกด้วยเมล็ด เมื่อต้นครามอายุได้ 3-4 เดือน ใบและกิ่งจะให้สีน้ำเงิน), ปูนขาว (สำหรับกินหมาก), น้ำขี้เถ้า, มะขามเปียก และน้ำสะอาด

อุปกรณ์ที่ใช้ ก็มี... ถังที่มีฝาปิด (โอ่ง), เส้นฝ้าย, ขัน, ส้อมกวนคราม, ตะแกรงกรองคราม และพลาสติก
ขั้นตอนการทำ เริ่มจากการเตรียมใบคราม นำทั้งกิ่งและใบมามัดรวมกันเป็นฟ่อน 10 กิโลกรัม ใส่ลงไปในถัง 200 ลิตร ใช้มือกดให้แน่น เติมน้ำให้ท่วมหลังมือ แช่ทิ้งไว้ 12 ชั่วโมง แล้วทำการกลับด้านครามแช่ไว้อีก 12 ชั่วโมง จากนั้นแยกกากใบออกทิ้ง จะได้น้ำครามสีเหลืองปนเขียวประมาณ 100 ลิตร เสร็จแล้วเติมปูนขาว 500 กรัมลงไป ทำการตีน้ำคราม หรือเรียกว่าซ้อมคราม 30-40 นาที จนฟองยุบ พักทิ้งไว้ 1 คืน เพื่อให้เนื้อครามตกตะกอนที่ก้นถัง แล้วรินน้ำใสสีน้ำตาลเหลือง ๆ ชั้นบนทิ้ง เหลือไว้แต่ชั้นล่างที่จะเป็นเนื้อครามเนื้อเนียนละเอียด

ต่อไปเป็นการเตรียมน้ำย้อม ผสมเนื้อครามเปียก 1 กิโลกรัม ต่อน้ำขี้เถ้า 3 ลิตร แช่ไว้ 3 วัน จากนั้นค่อยเติมน้ำมะขามเปียกต้ม 3 ลิตรลงไป ทำการโจกคราม (ตักสูง ๆ เทลง) ทุกเช้า-เย็น สังเกตดูเมื่อเห็นน้ำครามให้สีเขียวอมเหลือง ฟองสีน้ำเงินเข้ม ไม่แตกยุบ แสดงว่าน้ำครามสมบูรณ์ พร้อมต่อการใช้ย้อมผ้าแล้ว

สำหรับขั้นตอนการย้อม ให้นำเส้นใยผ้าฝ้ายที่ต้องการย้อมมาล้างไขมัน สะอาดแล้วก็บิดให้หมาด ๆ จับเป็นวง จุ่มลงหม้อน้ำย้อม กำให้แน่นแล้วไล่เรียงไปเรื่อย ๆ รอบวงของฝ้าย สังเกตสีน้ำย้อมจะใสขึ้นจึงหยุดย้อม บิดฝ้ายที่ย้อมให้หมาด ๆ กระตุกให้เรียงเส้น เก็บไว้ในภาชนะมิดชิดหรือห่อด้วยถุงพลาสติก
ละลายครามกับน้ำด่างพอประมาณให้เนื้อครามเหลว โจกคราม 2-3 ครั้ง พักไว้ 4-5 ชั่วโมง จากนั้นนำฝ้ายที่ย้อมไว้ในรอบแรกมาย้อมอีกครั้งและทำเช่นเดิมอีก ย้อมซ้ำจนได้สีเข้มตามที่ต้องการ จึงนำเส้นใยฝ้ายที่ย้อมนั้นมาล้างในน้ำให้สะอาด จนไม่เหลือสีครามออกมาในน้ำล้าง บิดให้หมาด ผึ่งในที่ร่มให้แห้ง ก่อนนำไปสู่กระบวนการทอ

ป้าเกยูรบอกถึงจุดเด่นของผ้าย้อมครามบ้านกุดแฮดว่า ทำมาจากฝ้ายแท้ ย้อมครามแบบธรรมชาติ โดยเส้นใยธรรมชาติจะมีความหนา เมื่อนำมาทอผ้าจะทำให้เนื้อนุ่ม ระบายอากาศได้ดี โดยส่วนใหญ่จะทอขายเป็นผืน ๆ ราคาเฉลี่ยอยู่ที่เมตรละ 200-300 บาท แต่ละคนจะทอผ้าได้สูงสุด 2-3 เมตรต่อวัน ส่วนใหญ่ใช้เวลาว่างจากการทำนา ปัจจุบันโดยเฉลี่ยชาวบ้านที่นี่จะมีรายได้จากการทำผ้าย้อมครามประมาณ 15,000 บาทต่อคนต่อปี

ใครสนใจ “ผ้าย้อมคราม” ของวิสาหกิจชุมชนทอผ้าย้อมครามฯ บ้านกุดแฮด ต.กุดบาก อ.กุดบาก จ.สกลนคร ติดต่อได้ที่ โทร.08-7946-6861, 08-7234-7212 หรือร้านฟ้าใสแกเลอรี่ โทร.0-2141-7828 ซึ่งอาชีพทำเงินของวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ก็เป็นอีกหนึ่ง “ช่องทางทำกิน” จากภูมิปัญญาดั้งเดิม ที่น่าสนใจไม่น้อยเลย.
เชาวลี ชุมขำ :เรื่อง / สันติ มฤธนนท์ :ภาพ
.........................................................................................................................
คู่มือลงทุน...ผ้าย้อมคราม
ทุนเบื้องต้น ประมาณ 5,000 บาท
ทุนวัสดุ ประมาณ 40% ของราคา
รายได้ ราคา 200-300 บาท/เมตร
แรงงาน 1 คนขึ้นไป
ตลาด ร้านของฝาก-ของที่ระลึก
จุดน่าสนใจ ชูภูมิปัญญาเป็นจุดขายที่ดี

credit by :  http://www.dailynews.co.th/Content/Article/147016/‘ผ้าย้อมคราม’ชูภูมิปัญญาสร้างมูลค่า

Read More...


‘นาฬิกาไม้ทำมือ’ไอเดียทำเงินเดินไม่หยุด



งานไม้ใส่ไอเดียยังเป็นชิ้นงานน่าสนใจ เพราะพลิกแพลงต่อยอดทำขายได้ตลอด แม้ไม่มีหน้าร้านแต่ก็ยังสามารถขายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตหรือสื่อสังคมสุด ฮิตอย่างเฟซบุ๊กได้ สำคัญอยู่ที่การหาจุดเด่นสินค้า และมองตลาดออกว่าสินค้าของเราน่าจะถูกจุดตรงใจลูกค้ากลุ่มใด อย่างเช่นงาน ’นาฬิกาไม้“ ทำมือ ที่ทีม ’ช่องทางทำกิน“ จะนำเสนอในวันนี้...

“ชัยยุทธ ดีวรรณ” เจ้าของชิ้นงาน “นาฬิกาไม้” ที่ใช้ชื่อสินค้าว่า “EMIT” ซึ่งเป็นการเล่นคำจากคำว่า “TIME” ที่แปลว่า “เวลา” บอกเล่าว่า ก่อนหน้าจะยึดอาชีพทำงานนาฬิกาไม้นี้ ทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์คอมพิวเตอร์มาก่อน ต่อมารู้สึกเบื่อ คิดอยากจะหาธุรกิจที่เป็นของตนเองขึ้นมาสักธุรกิจหนึ่ง จึงคิดว่างานไม้น่าจะเหมาะ เพราะโดยส่วนตัวชอบงานประเภทนี้อยู่แล้ว และรู้สึกว่างานไม้มีเสน่ห์ในตัว จึงคิดค้นหารูปแบบชิ้นงาน และก็มาลงตัวที่งานทำนาฬิกาจากไม้

ชัยยุทธ บอกว่า เริ่มเปิดร้านแบบออนไลน์เต็มตัวมาได้ประมาณ 3 เดือนแล้ว โดยจำหน่ายสินค้าผ่านทางเฟซบุ๊กในชื่อ www.facebook.com/emitclock ซึ่งที่ผ่านมามีผลตอบรับดี นอกจากลูกค้าทั่วไป ก็ยังมีลูกค้าที่รับสินค้าไปจำหน่ายต่อ รวมถึงมีกลุ่มลูกค้าที่สั่งทำชิ้นงานเฉพาะ เพื่อนำไปมอบเป็นของขวัญ ของที่ระลึก เนื่องในโอกาสพิเศษด้วย

ข้อดีของการเปิดร้านออนไลน์แบบนี้ ในฐานะที่คลุกคลีกับงานด้านไอที ชัยยุทธกล่าวว่า การเปิดร้านลักษณะนี้ทำให้ต้นทุนในการทำธุรกิจลดลงไปได้มาก อีกทั้งการเปิดร้านออนไลน์ยังเป็นการช่วยทดสอบตลาดของชิ้นงานได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งการเปิดร้านออนไลน์แบบนี้ ยังช่วยขยายฐานให้กับสินค้าได้อีกด้วย แต่จุดสำคัญคือ ต้องพยายามอัพเดทกิจกรรมหรือสินค้าของร้านตลอดเวลา เพื่อให้ร้านค้าออนไลน์ของเรานั้นมีความเคลื่อนไหว ไม่หยุดนิ่ง ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการเปิดร้านออนไลน์

“ตอนนี้มีทั้งลูกค้าที่มารับชิ้นงานเพื่อจะไปจำหน่ายต่อ ตามแหล่งท่องเที่ยว รวมทั้งลูกค้าที่สั่งทำชิ้นงานตามที่ลูกค้าต้องการ เพื่อนำไปมอบเป็นของขวัญ ของที่ระลึก” ชัยยุทธกล่าว

สำหรับนาฬิกาไม้ทำมือที่ทำขึ้นนั้น ปัจจุบันมีแบบใหม่ ๆ เพิ่มตลอด ซึ่งนอกเหนือไปจากรูปแบบที่มีทั้งแบบมินิมัลและวินเทจแล้ว จุดเด่นจุดขายของชิ้นงานคือ การเพิ่มประโยชน์ใช้สอยของนาฬิกาเข้าไป เพื่อให้เป็นมากกว่านาฬิกาบอกเวลา เช่น ที่แขวนผ้า, ที่แขวนกุญแจ, ที่แขวนแก้ว, ชั้นวางหนังสือ, กล่องใส่ของ เพื่อสร้างความน่าสนใจ ทำให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น

ทุนเบื้องต้น ลงทุนประมาณ 10,000 บาท ส่วนทุนวัสดุอยู่ที่ประมาณ 30% จากราคาขาย ซึ่งเริ่มตั้งแต่ราคา 400 บาท ไปจนถึง 1,500 บาท ขึ้นกับรูปแบบ ขนาด และรายละเอียดของชิ้นงาน

อุปกรณ์ที่ต้องใช้ หลัก ๆ อาทิ เลื่อยวงเดือนไฟฟ้า, เลื่อยฉลุไฟฟ้า, ทิมเมอร์หรือเครื่องแกะสลักไม้ และอุปกรณ์ในงานช่างไม้ อาทิ ค้อน ไขควง ตะปู กระดาษทราย เป็นต้น สำหรับวัสดุ ประกอบด้วย ไม้เนื้ออ่อน (ไม้สน ไม้วีเนียร์), ไม้สังเคราะห์ (พลาสวู้ด), กาวร้อน, กาวยาง, สีชนิดต่าง ๆ และตัวเครื่องนาฬิกา

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากออกแบบนาฬิกาไม้ที่จะทำ โดยอาจวาดแบบร่างลงในสมุดเก็บแบบงานไว้ก่อน เมื่อได้รูปแบบที่ต้องการแล้วก็มาวางแผนการทำงาน โดยดูว่านาฬิกาที่จะทำนั้นมีส่วนประกอบไม้กี่ชิ้น เมื่อกำหนดได้แล้วก็ทำการเลือกไม้ที่จะนำมาตัด โดยตัดเป็นส่วนประกอบต่าง ๆ ไว้ อาทิ ตัวเรือนนาฬิกา, ชั้นวาง, หมุดที่จะใช้ทำเป็นที่แขวน ซึ่งบางชิ้นอาจจะซื้อสำเร็จรูปมาใช้ได้เลย เช่น หมุดไม้สำหรับทำที่แขวน ซึ่งก็จะช่วยย่นระยะเวลาได้มาก
เมื่อทำการตัดส่วนประกอบเสร็จแล้ว นำไม้ที่ตัดได้มาทำการขัดตกแต่งรอยที่ไม่เรียบด้วยกระดาษทรายหรือเครื่อง เจียร จากนั้นทาสีไม้ที่จะใช้เป็นส่วนประกอบของนาฬิกา สำหรับส่วนหลังคานั้น ให้นำไม้สังเคราะห์ (พลาสวู้ด) มาลนไฟเล็กน้อย จากนั้นค่อย ๆ ดัดให้เป็นรูปโค้ง ก็จะได้เป็นส่วนหลังคา เมื่อเตรียมส่วนประกอบเสร็จ ก็นำชิ้นงาน อาทิ ตัวนาฬิกา ชั้นวาง ที่แขวนสิ่งของ มายึดติดด้วยกาวร้อน เพื่อให้ได้รูปทรงชิ้นงาน แล้วทิ้งไว้สักพัก
จากนั้นนำกาวยางมาทาส่วนประกอบที่จะนำไปทำเป็นหลังคา โดยทากาวยางที่ด้านใต้หลังคา จากนั้นทำการยึดประกอบหลังคาเข้ากับตัวเรือน นำเครื่องนาฬิกาที่เตรียมไว้มาประกอบเข้าที่ตัวเรือน ทำการตกแต่งด้วยสีหรือวัสดุอื่น ๆ ตามที่ได้ออกแบบไว้ เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำนาฬิกาไม้
โดยหากเป็นชิ้นงานที่ไม่ใหญ่มาก และมีรายละเอียดไม่มากนัก ในแต่ละวัน
ชัยยุทธจะสามารถประกอบนาฬิกาไม้ของเขาได้ไม่ต่ำกว่า 10 เรือน
“ผมเองเริ่มต้นจากศูนย์ งานไม้ก็ไม่เคยเรียนที่ไหน อาศัยสังเกตดูจากช่างไม้ที่มาต่อเติมบ้าน ว่ามีหลักอย่างไร ส่วนรูปแบบหรือแนวคิดก็พยายามศึกษาจากข้อมูลที่มีอยู่มากมายในอินเทอร์เน็ต แต่ไม่ลอกเลียน แค่นำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับรูปแบบของเรา ผมว่าถ้าตั้งใจ อาชีพนี้ก็ไปได้” เป็นคำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจงานประดิษฐ์เช่นชัยยุทธ
สนใจติดต่อเจ้าของกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ จาก ’นาฬิกาไม้ทำมือ“  รายนี้ ติดต่อได้ที่ โทร. 08-6722-1454 หรืออีเมล chaiyuth.dee@gmail.com หรือตามเฟซบุ๊กข้างต้น ซึ่งนี่ก็ถือว่าเป็นงานประดิษฐ์จากไม้อีกรูปแบบหนึ่งที่สามารถทำเป็นชิ้นงาน ทำเงินได้อย่างน่าสนใจ.
ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ : เรื่อง/จุมพล นพทิพย์ : ภาพ
...............................................................................................................................
คู่มือลงทุน...นาฬิกาไม้ทำมือ
ทุนเบื้องต้น ประมาณ 10,000 บาท
ทุนวัสดุ ประมาณ 30% จากราคา
รายได้ ราคา 400-1,500 บาท
แรงงาน 1 คนขึ้นไป
ตลาด กลุ่มของใช้-ของที่ระลึก
จุดน่าสนใจ ใช้ทุนต่ำขายไอเดียราคาดี

Read More...


‘งานฝีมือ-ประดิษฐ์เด่น’...ปี 56 ‘กระจุกกระจิก-พลิกแพลง’แรงทั้งปี!!

หน้า ’ช่องทางทำกิน“ เสาร์นี้ ทางทีมงานเราเริ่มจัดทำเป็นหน้าพิเศษส่งท้ายปีเก่า ประมวลอาชีพเด่น ๆ ที่มีการนำเสนอไปในรอบปีนี้ ซึ่งปี 2556



หน้า ’ช่องทางทำกิน“ เสาร์นี้ ทางทีมงานเราเริ่มจัดทำเป็นหน้าพิเศษส่งท้ายปีเก่า ประมวลอาชีพเด่น ๆ ที่มีการนำเสนอไปในรอบปีนี้ ซึ่งปี 2556 เป็นปีที่ ’งานฝีมือ-งานประดิษฐ์“ คึกคักในสื่อสังคมออนไลน์อย่างมาก ผู้ผลิตทั้งรายใหญ่รายเล็กต่างเปิดร้านออนไลน์แข่งขันกันอย่างหลากหลาย เพราะประหยัดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุนได้มาก แต่กระนั้น ในเรื่อง ’ไอเดียพลิกแพลง“ ก็ยังเป็นสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ ทั้งนี้ ปี 2556 นี้งานฝีมือประเภท ’ของกระจุกกระจิกที่เน้นดีไซน์“ ถือว่ามาแรง ดังเช่นที่ทีม “ช่องทางทำกิน” ได้นำมาไล่เรียง และประมวลให้เห็นกันโดยสังเขป ดังต่อไปนี้...
***************
’ปลาคาร์ปดินปั้น“ ของ ธีรชาติ ลี้ไวโรจน์ ขายผ่านเว็บไซต์ www.artsmania.net เป็นงานที่นำ ดินเกาหลีมาอิงกับความเชื่อเรื่องสิริมงคล-สัตว์มงคล จนเป็นของประดับตกแต่งน่าสนใจ มีลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ ทั้งคนเลี้ยง ปลา และคนที่สนใจเรื่องฮวงจุ้ย 
’นาฬิกาไม้ทำมือ“ ของ ชัยยุทธ ดีวรรณ นำประโยชน์ใช้สอยมาผสานเข้ากับนาฬิกา และแม้จะขายผ่านเฉพาะเฟซบุ๊ก www.facebook.com/EmitClock Shop ทว่า ก็ยังทำเงินได้งาม ๆ จากไอเดียที่ไม่หยุดเดินนี้
’โคมไฟอะคริลิก“ ของ อานนท์ บุญประเสริฐ ขายผ่านเว็บไซต์ www.thaiclassicsign.com มีจุดเด่นที่การนำแผ่นอะคริลิกมาแกะสลักเป็นลวดลาย ซึ่งนอกจากความสว่างยังสร้างสีสันลวดลายแปลกตา เป็นไอเดียทำเงินจากโคมไฟ
’กิ๊บโบแฮนด์เมด“ ของ จริญญา สุข ใจ-วีรวุตต์ วิศาล แม้จะเป็นชิ้นงานเล็ก ๆ กระจุกกระจิก แต่ก็ทำเงินดี โดยทั้งคู่เลือกดัดแปลงชิ้นงานขึ้นใหม่จากสินค้าเดิมที่เคยทำ นำมาเพิ่มลูกเล่นและความแข็งแรงเข้าไป จนกลายเป็นสินค้าทำเงิน
’กระเป๋าผ้า“ ของ ทิฆัมพร พรายแก้ว-อิศรา ปิ่นถาวรรักษ์ มีจุดเด่นที่เนื้อผ้ากับรูปทรง ทำให้เป็นสินค้าทำเงิน ขายผ่านเว็บไซต์และเฟซบุ๊ก www.cottonplaythai.com และ www.facebook.com/Cotton playthai ก็ทำเงินได้ดี
’กล่องผ้าทำมือ“ ของ อัญชลี จิตสวา ทำให้กล่องผ้าเป็นสินค้าน่าสนใจ โดยนำเทคนิค ต่าง ๆ มาพลิกแพลงเป็นกล่องหลากหลายรูปแบบ แม้ไม่มีหน้าร้าน ขายผ่าน www.face book.com/FabricBoxByAn อย่างเดียว แต่ก็มีลูกค้าสั่งทำอยู่ไม่ขาด
’ต้นข้าวจิ๋ว“ งานปั้นดินไทย ของ นลินรัตน์ โชติรัตน์โญธิน นอกจากคงเอกลักษณ์แบบไทย ยังปรับรูปแบบให้เข้ากับตลาดสมัยใหม่ด้วย ทำให้งานปั้นไม่เป็นงานเชย ๆ สนใจเข้าไปดูได้ที่ www.facebook.com/pages/Magicflowers 
’บายศรีกระดาษ“ ของ กัญญา บุญศิริ พลิกแพลงศิลปะไทยดั้งเดิมผสานกับวัสดุสมัยใหม่หาง่ายคือกระดาษ เป็นอีกรูปแบบที่น่าสนใจ นอกจากเก็บรักษาได้นาน ยังขายได้กว้างขึ้น ทำบายศรีได้ทุกประเภท สนใจ โทร. 08-1902-2632
’สมุดทำมือ“ ของ วศินี เชยกลิ่นเทศ มีจุดเด่นที่การผลิตสมุดแบบคัมภีร์โบราณ แต่เพิ่มลูกเล่นรูปแบบทัน สมัย ทำให้ชิ้นงานโดดเด่นน่าสนใจ แม้จะขายผ่านเฟซบุ๊ก www.facebook.com/ClassicNotebook อย่างเดียว แต่ก็มีลูกค้าสั่งทำอยู่ตลอด 
’ตุ๊กตาไม้แฮนด์เมด“ ของ เพียงใจ เพียรไพฑูรย์ นำงานวาดผสมผสานงานไม้ จุดขายคือดึงจุดเด่นของตัวแบบ ตุ๊กตาที่ทำมีทั้งเต็มตัวหรือเฉพาะหัว มีทั้งพวงกุญแจและจัดฉากเป็นเซต ดูได้ที่ www.facebook.com/pages/shop-design-by-patteeb 
****************
...ทั้งนี้ นี่ก็เป็นบางส่วนจากการประมวลของทีม ’ช่องทางทำกิน“ กับ ’งานประดิษฐ์-งานฝีมือ“ ที่มีการนำเสนอไปในปี 2556 และก็เป็นข้อพิสูจน์ได้อย่างดีว่า แม้ไม่มีหน้าร้าน แต่ก็ยังสามารถทำเงิน สร้างรายได้อย่างดี ด้วยการขายผ่านออนไลน์ สำคัญคือ “ความคิดสร้างสรรค์” และเพียง “อย่าท้อ-อย่ายอมแพ้” เป็นพอ.
‘เกษตร-บริการ’..ยังน่าสน
รอบปี 2556 ทีม ’ช่องทางทำกิน“ ก็พบว่ามี ’อาชีพเกษตร-อาชีพบริการ“ ที่น่าสนใจหลากหลาย งานเกษตรที่ใครอาจมองว่าเดิม ๆ จริง ๆ ยังไปได้ดี ขณะที่งานบริการหลายรายเป็นการต่อยอดจากธุรกิจเดิม ก็ไปฉลุย ซึ่งทางทีมงานเราก็ประมวลมาเป็นตัวอย่าง ดังนี้...
’ต้นไม้เช่า“ ของ เสาวลักษณ์ สุขโต จากขายต้นไม้ กลายมาเป็นบริการให้เช่าเพื่อ ตกแต่ง จุดเด่นอยู่ที่ลูกค้าเลือกได้มากกว่าการซื้อ นอกจากหน้าร้านใกล้ตลาด อ.ต.ก. ก็ยังมีเฟซบุ๊ก www.facebook.com/lookpla.artificial.tree ไว้ติดต่อกับลูกค้า นี่ก็น่าสนใจ
’อัพเกรดเครื่องเสียง“ เป็นงานที่ อดิศักดิ์ สุจริต นำทักษะเดิมมาพลิกแพลง จากงานซ่อมพื้นฐาน ก็เปลี่ยนเป็นบริการอัพเกรดแทน นอกจากหน้าร้านที่ศูนย์การค้าอัมรินทร์พลาซ่า ก็ยังมีเว็บไซต์ www. 4seasonsaudio.com ไว้ติดต่อสื่อสารกับลูกค้าอีกทางหนึ่ง
’ซ่อมบิ๊กไบค์“ เป็นงานบริการที่ พนม อินทร์ภู่มะดัน ซึ่งมีประสบการณ์มานาน แนะนำไว้ ด้วยความนิยมที่เพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดต้องการช่างฝีมือ
ด้านนี้ รายละเอียดดูได้ที่เว็บไซต์ www.panombig bike.blogspot.com ซึ่งนี่ก็ถือเป็นอีกงานบริการที่มีอนาคต
’เพาะลูกปลานิลขาย“ นี่เป็นอาชีพด้านเกษตรที่ทำเงินดี ชุมพล จั่นจำรัส (บ่อเพาะชุมพล โทร. 08-6121-9738) เพาะปลานิลขาย เลี้ยงง่าย โตเร็ว รสดี เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่น่าสนใจ เรียกว่าเพาะส่งขายแทบไม่ทันกันเลยทีเดียว
’ทำนาบัว“ นี่อาจเป็นอาชีพเกษตรที่บางคนอาจมองข้าม ทั้งที่ทำเงินงามได้ไม่แพ้ดอกบัวในสระ โดย ประไพร สวัสดิ์โต (นาบัวลุงแจ่ม โทร.08-7828-1892) ย่านพุทธมณฑล จ.นครปฐม ยืนยันว่า อาชีพนาบัวทำไม่ยาก เพราะบัวดูแลง่าย แถมตัดขายได้ทุกวัน น่าสนใจด้วยประการฉะนี้
...และนี่ก็เป็นประมวลสรุปบางส่วนของ ’อาชีพเกษตร-อาชีพบริการ“ ปี 2556 ที่เด่น ๆ ที่ ’น่าพิจารณา“.
ทีมช่องทางทำกิน : รายงาน

credit by : 
http://www.dailynews.co.th/Content/Article/204764/‘งานฝีมือ-ประดิษฐ์เด่น’...ปี+56+‘กระจุกกระจิก-พลิกแพลง’แรงทั้งปี!!

Read More...


'ผ้าไทยใส่ไอเดีย’ชูจุดเด่น..แปลงเป็นเงิน!

ก่อนจะหันมายึดอาชีพผลิตงานผ้าทำมือนั้น เคยทำงานประจำเป็นนักออกแบบกราฟิกมาก่อน แต่ด้วยความที่ชอบและสนใจงานเกี่ยวกับผ้า จึงพยายามฝึกฝนและทดลองหัดทำด้วยตนเอง






“งานผ้า” ยังเป็นชิ้นงานที่คนสนใจและสามารถนำมาต่อยอดทำได้หลากหลาย นอกจากเป็นวัสดุหลักที่หาซื้อได้ง่าย มีหลายชนิดแล้ว ในเรื่องคุณสมบัติกับความโดดเด่นของผ้าก็เป็นอีกจุดที่ถูกนำมาใช้เป็นแรง บันดาลใจในการผลิตชิ้นงาน อย่างเช่นชิ้นงานของ “ฐิติมา ลักษมีวณิชย์-สาธิต พุทธเชน” ที่นำผ้าอารมณ์ไทย ๆ อย่าง ’ผ้าขาวม้า“ มาดัดแปลงเป็นสินค้าหลายรูปแบบ ซึ่งก็เป็นอีกกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ ที่น่าสนใจ...
ฐิติมา เล่าว่า ก่อนจะหันมายึดอาชีพผลิตงานผ้าทำมือนั้น เคยทำงานประจำเป็นนักออกแบบกราฟิกมาก่อน แต่ด้วยความที่ชอบและสนใจงานเกี่ยวกับผ้า จึงพยายามฝึกฝนและทดลองหัดทำด้วยตนเอง และผลิตชิ้นงานขึ้นมาเพื่อไว้ใช้เอง กับทำขึ้นเพื่อนำไปแจกเพื่อนฝูงคนรู้จัก ซึ่งปรากฏว่ามีคนตอบรับดี โดยมีการขอให้ทำเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงคิดว่าชิ้นงานตรงนี้น่าจะขยับขยายและสามารถทำเป็นอาชีพได้ จึงหันมาผลิตงานจากผ้านี้แบบเต็มตัว โดยจำหน่ายผ่านทางหน้าร้านออน ไลน์และเฟซบุ๊ก คือที่ www.tiger-craft.com/oyoying กับ www.facebook.com/N0B0dyPerfect เป็นช่องทางจำหน่ายหลัก นอกจากนี้ก็ยังเดินสายนำสินค้าออกวางจำหน่ายตามตลาดนัดงานฝีมือทั่วไป โดยยึดอาชีพผลิตงานจากผ้านี้มาได้ประมาณ 2 ปีแล้ว
“เริ่มจากทำไว้ใช้งานเอง และมอบให้เพื่อนฝูงคนรู้จัก ต่อมามีคนสนใจเยอะขึ้น มาสั่งให้ช่วยทำเพิ่ม พอมาก ๆ เข้า ก็เลยคิดว่างานตรงนี้น่าจะพัฒนาจนเป็นอาชีพได้ จึงตัดสินใจออกมายึดอาชีพผลิตงานจากผ้านี้เต็มตัว ส่วนที่เลือกผ้าขาวม้านั้น ส่วนตัวรู้สึกชอบ เพราะถือเป็นผ้าไม่กี่ชนิดที่เมื่อเห็นแล้วก็รู้ได้ถึงอารมณ์ความเป็นไทยได้ ทันที อีกทั้งสีสันของผ้าขาวม้ายุคใหม่ก็มีสีให้เลือกมากขึ้น” ฐิติมา ผู้ผลิตชิ้นงานกล่าว
ชิ้นงานส่วนใหญ่ เธอบอกว่าเป็นงานทำมือทั้งชิ้น แต่ก่อนสมัยที่ยังผลิตไม่เยอะก็จะใช้วิธีการเย็บผ้าด้วยมือ แต่พอมีคำสั่งซื้อหรือมีความต้องการมากขึ้นก็เปลี่ยนมาใช้การขึ้นชิ้นงาน ด้วยจักรไฟฟ้าแทน
สำหรับสินค้าที่ทำขึ้นจากผ้าขาวม้านั้น มีตั้งแต่ ผ้ากันเปื้อน, ถุงมือกันร้อน, ตุ๊กตา, ผ้าพันคอ, ผ้าปูโต๊ะ, ผ้าห่ม, ปลอกหมอน, ที่หุ้มพวงมาลัย, กระเป๋า, รองเท้า เป็นต้น โดยไอเดียการผลิตสินค้านั้น มีอยู่บ่อยครั้งที่มักจะได้ไอเดียจากความต้องการใช้งานของลูกค้า
ทุนเบื้องต้น ใช้เงินลงทุนประมาณ 30,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นค่าจักรเย็บผ้าและอุปกรณ์งานผ้า ทุนวัสดุอยู่ที่ประมาณ 50% ของราคา ซึ่งราคาขายอยู่ที่ 30 บาท ถึง 2,000 บาท
วัสดุอุปกรณ์ ประกอบด้วย จักรเย็บผ้า, เข็ม-ด้าย, กรรไกร, เข็มหมุด, กระดาษแข็ง (ใช้ทำแพตเทิร์น), ผ้าขาวม้า, ผ้าชิ้น สำหรับทำลวดลายหรือตกแต่งเพิ่มความสวยงาม, ลูกปัด, กระดุม, เวลโคเทปหรือแถบตีนตุ๊กแก, ซิป และวัสดุตกแต่งอื่น ๆ ตามต้องการ โดยวัสดุอุปกรณ์เหล่านี้สามารถหาซื้อได้ตามแหล่งจำหน่ายงานผ้าทั่วไป
ขั้นตอนการทำ เนื่องจากมีชิ้นงานหลายแบบ เธอจึงยกตัวอย่างการทำ “ผ้ากันเปื้อน” ขึ้นมาเพื่ออธิบาย โดยเริ่มจากการเลือกลายและชนิดผ้าขาวม้า โดยอาจเลือกที่สีสัน หรือจะเลือกจากความนิ่มของเนื้อผ้าที่จะนำมาทำ โดยหากเป็นงานกระเป๋า หรือชิ้นงานที่ไม่ต้องมีการสัมผัสกับผิวหนังตลอดเวลา ผ้าที่เลือกอาจจะใช้ผ้าที่มีความแข็งนิดหน่อย แต่หากเป็นชิ้นงานที่ต้องมีการสัมผัสกับผิวหนังโดยตรงตลอดเวลาขณะใช้งาน ก็ควรเลือกเนื้อผ้าที่มีความนิ่มสักเล็กน้อย เพื่อลดการเสียดสีขณะการใช้งาน
เลือกผ้าขาวม้าได้แล้ว จึงทำการวัดขนาดที่ต้องการ โดยหากเป็นผ้ากันเปื้อนแบบเต็มตัว จะเริ่มวัดจากบริเวณหน้าอกลงไปจนได้ความยาวที่ต้องการ โดยผ้าขาวม้านั้นส่วนใหญ่จะมีขนาดมาตรฐานอยู่ที่ กว้าง 90 เซนติเมตร ยาว 2 เมตร ซึ่งผ้า 1 ผืนจะสามารถนำมาทำผ้ากันเปื้อนได้ 1 ตัว โดยผ้ากันเปื้อน 1 ตัวจะมีส่วนประกอบคือ ส่วนที่เป็นตัวผ้ากันเปื้อน, ส่วนที่เป็นสายคล้องคอ, ส่วนที่เป็นผ้าผูกเอว และส่วนที่ทำกระเป๋าสำหรับใส่ของ
เมื่อตัดผ้าขาวม้าเพื่อทำส่วนประกอบเสร็จเรียบร้อย ให้นำผ้าในส่วนที่เป็นตัวผ้า กันเปื้อน (ผ้าชิ้นใหญ่สุด) มาทำการตัดมุมผ้าทั้ง 2 ด้าน เพื่อทำเป็นเว้าของแขนขณะสวมใส่ จากนั้นนำผ้ามาเย็บขอบ และนำส่วนที่เป็นผ้าคาดเอวมาเย็บติดกันกับส่วนที่เป็นตัวผ้ากันเปื้อน โดยอาจใช้ผ้าคนละสีเพื่อเพิ่มลูกเล่นก็ได้ จากนั้นนำผ้าในส่วนที่ จะใช้ทำกระเป๋ามาเย็บติดเข้ากับส่วนที่เป็นตัวผ้ากันเปื้อน ทำการเย็บกระดุม ติดที่ด้านบนใกล้ ๆ กับส่วนเว้าแขน เพื่อใช้เป็นที่ติดกับสายคล้องคอของผ้ากันเปื้อน ทำการตกแต่งด้วยวัสดุตก แต่งตามต้องการ เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำผ้ากันเปื้อนจากผ้าขาวม้า 1 ชิ้น
“เราอาจนำผ้าคนละสี คนละลาย มาแซมในส่วนประกอบต่าง ๆ ก็ได้ จะช่วยเพิ่มลูกเล่นให้ชิ้นงานดูน่าสนใจมากยิ่งขึ้น หรืออาจจะออกแบบกระเป๋าด้านหน้าให้สามารถใส่ของกระจุกกระจิกด้วยการเพิ่ม ช่องกระเป๋าช่องเล็กช่องใหญ่ ก็จะยิ่งทำให้ชิ้นงานดูโดดเด่นน่าสนใจเพิ่มขึ้น” ฐิติมา ผู้ผลิตชิ้นงานกล่าว
สนใจติดต่อกรณีศึกษา ’ช่องทางทำกิน“ จาก ’ผ้าขาวม้า“ รายนี้ ติดต่อได้ที่ โทร. 08-3984-4429 หรืออีเมล oyoying@yahoo.com และเข้าไปดูสินค้าได้ตามที่อยู่เว็บไซต์ข้างต้น ซึ่งชิ้นงานหลากหลายรูปแบบที่ทำขึ้นจากผ้าอารมณ์ไทย ๆ อย่างผ้าขาวม้า นี่ก็ถือเป็นอีกหนึ่งรูปแบบชิ้นงานที่ทำจากผ้าที่น่าสนใจ แม้งานผ้าจะมีการแข่งขันในตลาดไม่น้อย ทว่าก็ยังมีโอกาส หากชิ้นงานที่ทำขึ้นมานั้น สวยงาม โดดเด่น มีเอกลักษณ์ และได้คุณภาพตรงใจกลุ่มลูกค้า.
ศิริโรจน์ ศิริแพทย์ - ปิยาภรณ์ บุญประเสริฐ :เรื่อง
สันติ มฤธนนท์ :ภาพ
.............................................................
คู่มือลงทุน...งานผ้าขาวม้า
ทุนเบื้อองต้น ประมาณ 30,000 บาท
ทุนวัสดุ ประมาณ 50% จากราคา
รายได้ ราคา 30-2,000 บาท
แรงงาน 1 คนขึ้นไป
ตลาด กลุ่มของใช้, นักท่องเที่ยว
จุดน่าสนใจ วัสดุหาง่าย มีจุดเด่นดึงดูด

 http://dailynews.co.th/Content/Article/209292/_ผ้าไทยใส่ไอเดีย’ชูจุดเด่น..แปลงเป็นเงิน!&videoId=20134

Read More...


ปรับปรุง
รายการบทความทั้งหมด



การบำรุงรักษารถยนต์เบื้องต้น



ร้านค้าเคลื่อนที่ ใช้ รถบรรทุกขนาดเล็กมาดัดแปลง



รวมบทความอาชีพ เสริม หลากไอเดียวิธีหารายได้เสริม



รวมบทความงานฝีมือ-สิ่งประดิษฐ์ รายได้เสริม



ทองม้วน thong muan ; rolled wafer





MASK รุ่นสายคล้องคอ







MASK รุ่นสายคล้องคอ. ��รุ่นนี้เป็นที่นิยมใช้กันมาก #ขายดีมาก
ทำจากผ้าคอตตอนแท้ 100%  ไม่ผสม เนื้อผ้านุ่ม 
3 ชั้น. สวมใส่พอดีกับใบหน้า ไม่เจ็บหู มีสายคล้องคอปรับได้
เวลาถอดออก ไม่ต้องกลัวลืม เพราะถอดแล้วคล้องคอไว้ได้
บรรจุในถุงซิปฟรอย์อย่างดี
ราคาชิ้นละ. 59. บาท. ไม่รวมส่ง 
มีหลายสีให้เลือกนะคะ   สนใจทักแชทขอดูสีผ้าได้นะคะ
หน่วยงาน บริษัท ห้างร้าน หรือ สนใจสั่งไปจำหน่าย 
มีเรทราคาส่งค่ะ

-> id line : noeyhorm_06
#มีวางจำหน่ายหน้าร้านชานมไต้หวันมาราชาสาขาจรัญ44


ร้านมาราชาชานมไข่มุก สาขาจรัญสนิทวงศ์ 44
● รับบัตรสะสมครบ 10 แก้ว แลกรับฟรี 1 แก้ว
● สั่งเดลิเวอรีผ่าน LINE MAN, Foodpanda ,GET ...ถึงมือปั๊บพร้อมดื่มปุ๊บ!
● อัพเดทโปรโมชั่นใหม่ๆ รสชาติใหม่ ตลอดเวลา
● มีเมนูให้เลือก 40 กว่าเมนู : https://bit.ly/2Z9iqV0










































 
Blogger Tips and TricksLatest Tips And TricksBlogger Tricks
Do it your self,handmade,HandiCraft,งานฝีมือ,อาชีพเสริม,ช่องทางทำเงิน บล๊อกจัดทำขึ้นเป็นวิทยาทานเพื่อเผยแผ่ความรู้อันจะเป็นไปเพื่อบุญกุศล ขอให้ทุกท่านที่มีส่วนร่วมในบทความของบล๊อกนี้ จงได้รับอานิสงฆ์ด้วยเทอญ.